Abstract:
การศึกษาเห็ดจากพื้นที่ศึกษาวิจัยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ในปี พ.ศ. 2552-2553 เป็นการศึกษาที่เน้นทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในพื้นที่ทำการศึกษา พบว่าจากการออกภาคสนามรวม 5 ครั้งสามารถเก็บตัวอย่างได้ 146 ตัวอย่าง สามารถจัดจัดจำแนกถึงระดับสกุล (genus) ได้ 1 ตัวอย่าง และจัดจำแนกถึงระดับสายพันธุ์ (species)ได้ 4 ตัวอย่างและพบว่าเห็ดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีดอกเนื้อแข็งคล้ายหนังสัตว์ (Polypores) และการออกภาคสนามในปีพ.ศ. 2554 1ครั้ง เก็บตัวอย่างเห็ดได้ 19 ตัวอย่าง สามารถจัดจำแนกถึงระดับสายพันธุ์ได้ 2 ตัวอย่าง และพบว่าเห็ดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีดอกเนื้อแข็งคล้ายหนังสัตว์เช่นกัน จากตัวอย่างเห็ด 146 ตัวอย่างสามารถแยกเส้นใยบริสุทธิ์ได้ 22 ตัวอย่าง นำเส้นใยบริสุทธิ์จาก 8 ตัวอย่าง และจากดอกเห็ด 1 ตัวอย่าง มาสกัดสารพอลิแซ็คคาร์ไรด์ด้วยน้ำร้อนโดยใช้เครื่องสกัดซอกห์เลต วัดปริมาณสารพอลิแซ็คคาร์ไรด์ในสารสกัดด้วยวิธีอันโทรน เลือกสารสกัดที่ปริมาณสารพอลิแซ็คคาร์ไรด์สูง 6 ตัวอย่างมาทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอด โดยใช้สารสกัดความเข้มข้น 0, 0.05, 0.10, 0.25, 0.50, 0.60, 0.70, 0.80, 0.90 และ 1.00 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ พบว่าสารสกัดจากตัวอย่าง KK 76 มีความสามารถสูงสุดในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งได้ที่ 88 เปอร์เซ็นต์ ที่ความเข้มข้น1.00 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และสารนี้สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ (IC50) ที่ความเข้มข้น 0.35 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เมื่อนำดอกของเห็ดที่สารสกัดมีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งเซลล์มะเร็งมาศึกษาทางสัณฐานวิทยาเพื่อจัดจำแนกชนิดพบว่าเป็นชนิด Microporus xanthopus ซึ่งมีชื่อเรียกภาษาไทยว่า เห็ดกรวยทองตะกู ส่วนตัวอย่างเห็ดจากการออกภาคสนามในปี 2554 จำนวน 19 ตัวอย่าง พบว่าสามารถแยกเส้นใยบริสุทธิ์ได้ 2 ตัวอย่าง เมื่อนำมาศึกษาเพื่อจัดจำแนกพบว่าเป็นเห็ดกรวยทองตะกู (Microporus xanthopus) 1 ตัวอย่าง และอีกตัวอย่างพบว่าเป็นเห็ดหลินจือ (Ganoderma lucidum) ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีการใช้กันแพร่หลาย จากการศึกษาครั้งนี้เชื่อว่าสารสกัดพอลิแซ็คคาร์ไรด์ จาก M. xanthopus จะสามารถนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในรักษาโรคมะเร็งร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆได้