Abstract:
งานวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์ ซึ่งมีใจความว่าผู้พูดภาษาที่มีระบบไวยากรณ์แตกต่างกันมีความคิดต่างกัน และในทางตรงข้ามผู้พูดภาษาที่มีระบบไวยากรณ์คล้ายคลึงกันมีโลกทัศน์คล้ายคลึงกัน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ต้องการทดสอบสมมติฐานนี้โดยทำการทดลองกับผู้พูดภาษาที่มีระบบไวยากรณ์ต่างกัน เช่น ลิงค์ พจน์ และลักษณนาม แต่ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบ่งชี้กาลในไวยากรณ์กับความคิดเกี่ยวกับเวลา ดังนั้นวิทยานิพนธ์นี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของการบ่งชี้กาลในไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน และภาษาไทย และเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างการบ่งชี้กาลในไวยากรณ์กับระบบปริชานของผู้พูดภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน และภาษาไทย ซึ่งตีความได้จากพฤติกรรมทางปริชานในด้านความตระหนักรู้และความจำในการทดลอง โดยมีสมมติฐานในงานวิจัยคือ ผู้พูดภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีการบ่งชี้กาลในไวยากรณ์มีความตระหนักรู้เรื่องเวลาและสามารถจดจำเวลาได้ถูกต้องมากกว่าผู้พูดภาษาจีนและภาษาไทยซึ่งไม่มีการบ่งชี้กาลในไวยากรณ์ การทดลองเพื่อทดสอบความตระหนักรู้ คือ การทดสอบแบบบรรยายภาพ มีผู้ถูกทดลองทั้งหมด 109 คน ประกอบด้วยผู้พูดภาษาอังกฤษ 26 คน ญี่ปุ่น 30 คน จีน 22 คน และไทย 31 คน ผลการทดลองพบว่า ในการบรรยายภาพ ผู้พูดภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นมีความตระหนักรู้เรื่องเวลาเวลามากกว่าผู้พูดภาษาจีนและภาษาไทย ในการทดลองเพื่อทดสอบความจำซึ่งจำแนกออกเป็น 3 การทดลอง ได้แก่ การทดสอบการเลือกภาพ การทดสอบแบบปรนัย และการทดสอบแบบเติมคำตอบ การทดสอบการเลือกภาพนั้นผู้ถูกทดลองกลุ่มเดียวกับการบรรยายภาพ ส่วนการทดสอบแบบปรนัยและเติมคำตอบมีผู้ถูกทดลองทั้งหมด 112 คน ประกอบด้วยผู้พูดภาษาอังกฤษ 22 คน ญี่ปุ่น 32 คน จีน 20 คน และผู้ไทย 38 คน ในการทดสอบแบบเติมคำตอบ ผู้พูดภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นสามารถจดจำเวลาได้ถูกต้องมากกว่าผู้พูดภาษาไทย แต่ผู้พูดภาษาจีนจดจำเวลาได้ดีกว่าผู้พูดภาษาไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้พูดภาษาจีนเดาได้ว่าผู้วิจัยกำลังทดสอบเกี่ยวกับเวลา ส่วนการทดสอบแบบปรนัย ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างผู้พูดภาษาทั้ง 4 ภาษาซึ่งอาจเป็นเพราะแบบทดสอบมีคำถามน้อยเกินไป จากผลการทดลองทั้งหมด สรุปได้ว่าการบ่งชี้กาลในไวยากรณ์ส่งผลให้ “เวลา” กลายเป็นลักษณะเด่นชัดในระบบปริชานของผู้พูดภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ทำให้ผู้พูดภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นมีตระหนักรู้เรื่องเวลาและจดจำเวลามากกว่าผู้พูดภาษาจีนและภาษาไทย จึงสรุปได้ว่าผลงานวิจัยนี้สนับสนุนสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์