Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ และศึกษาค้นหาแนวคิดในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ ถือเป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ ได้แก่ การวิเคราะห์จากเอกสาร และตำรา การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับงานนาฏยศิลป์ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การสังเกตการณ์ เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน โดยนำข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทดลองเพื่อสร้างสรรค์การแสดง และสรุปผล ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์จากภาพท่าเต้นของนราพงษ์ จรัสศรี เป็นการนำภาพท่าเต้นของศิลปินมาร้อยเรียงและสร้างสรรค์เป็นผลงานการแสดงนาฏยศิลป์ ในรูปแบบนาฏยศิลป์พิสุทธิ์ (Pure dance) สามารถจำแนกตามองค์ประกอบการแสดงนาฏยศิลป์ได้ 8 ประการคือ 1) บทการแสดง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่1 บัลเล่ต์คลาสสิค (Classical ballet) ส่วนที่ 2 นาฏยศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary dance) ส่วนที่3 บัลเล่ต์คลาสสิค (Classical ballet) 2) นักแสดง ต้องมีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ขั้นสูง การสื่อสารอารมณ์และความหมาย 3) ลีลาการแสดง จากแนวคิดพื้นฐานการเคลื่อนไหวทั้ง 7 และการใช้ท่าเชื่อม (Linking steps) โดยนำเสนอผ่านนาฏยศิลป์รูปแบบบัลเล่ต์คลาสสิค และนาฏยศิลป์แบบร่วมสมัย 4) เสียง ใช้แนวคิดการปะติด (Collage) คือการใช้เสียงที่ไม่มีระเบียบแบบแผน ไม่ได้ผ่านการเรียบเรียง และนำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นเพลงใหม่ 5) อุปกรณ์การแสดง นำเสนอผ่านแนวคิดเรียล์ลิสติก (Realistic) คือการนำอุปกรณ์จริงทั้งสิ้นมาประกอบฉากการแสดง เพื่อให้คนดูเกิดความเข้าใจและมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับการแสดงมากขึ้น 6) พื้นที่การแสดง ใช้แนวคิด"ศิลปะเฉพาะที่" (Site specific art) ที่สามารถสื่อความหมาย และความเชื่อให้กับผู้ชม 7) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีมาช่วยในการสร้างบรรยากาศและถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึก 8) เครื่องแต่งกาย ใช้แนวคิดมินิมิมอลลิซึ่ม (Minimalism) และ เรียล์ลิสติก (Realistic) คือมุ่งเน้นความเรียบง่าย ความประหยัดและตรงไปตรงมา นอกจากนี้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ได้ให้ความสำคัญใน 5 ประการคือ 1) การคำนึงถึงสรีระของร่างกาย 2) การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 3) การคำนึงถึงการใช้ทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์และทัศนศิลป์ 4) การคำนึงถึงการใช้ความหลากหลายรูปแบบของการแสดง 5) การใช้สัญลักษณ์เพื่อการสื่อสารในการแสดง ดังนั้นผลการวิจัยทั้งหมดนี้จึงมึความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุกประการ ข้อสรุปจากการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์จากภาพท่าเต้นของนราพงษ์ จรัสศรี เป็นผลงานนาฏยศิลป์ที่มีลักษณะเด่นที่เรียกว่า "นาฏยศิลป์พิสุทธิ์" (Pure dance) คือเป็นการแสดงที่เน้นแต่เฉพาะลีลาท่าทางนาฏยศิลป์ นอกจากนี้การนำภาพถ่ายมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานนาฏยศิลป์ทำให้เกิดความแปลกใหม่และเกิดความท้าทายต่อตัวผู้สร้างงาน ดังนั้นการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ชิ้นนี้สามารถเป็นตัวอย่างของการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์แนวใหม่ และมีประโยชน์ในอนาคตของวงการศึกษาต่อไป