Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในบทบาท ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ความหมายในชีวิต และความสุขในบริบทพุทธธรรมของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนทั้งหมด 303 คน มีอายุเฉลี่ย เท่ากับ 46.72 (SD=12.34) ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ (1) มาตรวัดความเครียดในบทบาท (2) มาตรวัดความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (3) มาตรวัดความหมายในชีวิต และ (4) มาตรวัดความสุขในบริบทพุทธธรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) ความเครียดในบทบาท ความหมายในชีวิตด้านการค้นหาความหมาย มีความสัมพันธ์ทางลบกับความสุขในบริบทพุทธธรรมอย่างมีนัยสำคัญที่ .05 และ .01 (r= -.12, p<.05, r= -.45, p<.01ตามลำดับ) ส่วนความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ และความหมายในชีวิตด้านความเข้าถึงความหมายมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในบริบทพุทธธรรมโดยมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 (r= .54, p<.01, r=.11, p<.05 ตามลำดับ) 2) ความเครียดในบทบาท ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ การค้นหาความหมาย การเข้าถึงความหมาย สามารถร่วมกันทำนายความสุขในบริบทพุทธธรรมของผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอธิบายความแปรปรวนของความความสุขของผู้ดูแลได้ ร้อยละ 49 (R2=.49, p<.01) โดยตัวแปรที่ทำนายความสุขในบริบทพุทธธรรมได้มากที่สุดคือ ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (β= .48, p<.01) ตามด้วยการค้นหาความหมาย (β= -.44, p<.01) การเข้าถึงความหมาย(β= .12, p<.05) และความเครียดในบทบาท (β=-.11, p<.05) สามารถทำนายความสุขในบริบทพุทธธรรมได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05