Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์ในการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการตัดสินใจของเกษตรกรและพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มากำหนดผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับจากการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความเหมาะสมของการสร้างการแข่งขันของพ่อค้าคนกลางนอกระบบในการปล่อยกู้สินเชื่อให้แก่เกษตรกร และหาแนวทางในการดำเนินโยบายของรัฐที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลประโยชน์จากการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างแบบจำลองเพื่อสะท้อนบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย แบ่งเป็น 4 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 เกษตรกรกู้สินเชื่อได้จากพ่อค้าคนกลางทั้งในระบบและนอกระบบ กรณีที่ 2 เกษตรกรกู้สินเชื่อจากพ่อค้าคนกลางนอกระบบเท่านั้น กรณีที่ 3 รัฐเข้าไปแทรกแซงราคารับซื้อ และกรณีที่ 4 รัฐเข้าไปแทรกแซงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะใช้การวิเคราะห์แบบเป็นลำดับขั้น (Sequential Game) ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลทางบวกต่อผลตอบแทนของเกษตรกร ได้แก่ ราคารับซื้อของโรงงานอาหารสัตว์และจำนวนของพ่อคาคนกลางนอกระบบ ปัจจัยที่มีผลทางลบต่อผลตอบแทนของเกษตรกร ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยของแหล่งเงินทุนภายนอก เกณฑ์ปริมาณสินเชื่อที่พ่อค้าคนกลางในระบบกำหนดให้เกษตรกรสามารถกู้ได้ และต้นทุนในการกำกับดูแลเกษตรกรของพ่อค้าคนกลางนอกระบบ จะได้ว่าการเพิ่มเกณฑ์ปริมาณสินเชื่อในระบบให้แก่เกษตรกรกลับทำให้เกษตรกรได้รับกำไรน้อยลง ในขณะที่การเพิ่มจำนวนพ่อค้าคนกลางนอกระบบในตลาดเพื่อสร้างการแข่งขันจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยในการกู้สินเชื่อของเกษตรกรต่ำลง การดำเนินนโยบายของรัฐโดยเข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าจากการประกันราคาผลผลิต รัฐต้องคำนึงถึงการคำนวณราคาประกัน และราคาตลาดอ้างอิงให้ราคาตลาดอ้างอิงใกล้เคียงกับราคาตลาดจริงมากที่สุด ประเด็นสุดท้ายคือการดำเนินนโยบายของรัฐโดยการแทรกแซงอัตราดอกเบี้ยนอกระบบ จะได้ว่าเกษตรกรจะได้รับกำไรเพิ่มขึ้นถ้าอัตราดอกเบี้ยที่รัฐกำหนดนี้สูงกว่าต้นทุนที่พ่อค้าคนกลางนอกระบบต้องแบกรับ ซึ่งเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่เขาต้องเพื่อปล่อยกู้รวมกันต้นทุนในการกำกับดูแลเกษตรกร