Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมมันสำปะหลังเส้น ต่อประสิทธิภาพการใช้อาหาร การหมักในกระเพาะรูเมน เมทาโบไลท์ของเลือด ผลผลิตและองค์ประกอบน้ำนม และการผลิตก๊าซด้วยวิธี in vitro gas production technique (IVGPT) แพะนมพันธุ์ผสม (ซาเนน x พื้นเมือง) จำนวน 12 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 29 กิโลกรัม ช่วงให้น้ำนมมาแล้ว 35 วัน วางแผนงานวิจัยแบบเปลี่ยนสลับ (crossover design) เวลางานวิจัยช่วงละ 21 วัน โดย 14 วันแรกจะเป็นการปรับตัว และ 7 วันถัดมาจะเข้าสู่ช่วงเก็บข้อมูล อาหารทดสอบ 2 กลุ่ม ได้แก่อาหารทดสอบ 1 ได้รับหญ้าแพงโกลาเท่านั้น (สัดส่วน in vitro ของ Pangola:Cassava = 100:0) และอาหารทดสอบ 2 ได้รับหญ้าแพงโกลาและเสริมด้วยมันสำปะหลังเส้นที่ระดับ 0.5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว (สัดส่วน in vitro ของ Pangola:Cassava = 79:21) สัตว์ทุกตัวจะได้รับหญ้าแพงโกลาแบบไม่จำกัด (ad libitum) บันทึกน้ำหนักตัว ปริมาณการกินได้ น้ำนม มูลและปัสสาวะ เพื่อหาค่าประสิทธิภาพการใช้อาหาร และวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่างอาหาร น้ำนม มูลและปัสสาวะ เก็บเลือดเพื่อวิเคราะห์หาค่าเมทาโบไลท์ของเลือด และ NEFA เก็บของเหลวในกระเพาะรูเมนเพื่อวิเคราะห์กรดไขมันระเหยง่าย วัดปริมาณก๊าซด้วยวิธี IVGPT และวิเคราะห์องค์ประกอบก๊าซมีเทนด้วยเครื่อง gas chromatography จากการศึกษาไม่พบค่าความแตกต่างทางสถิติระหว่างกลุ่ม T1 และ T2 ในด้านเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว ปริมาณการกินได้ สมดุลไนโตรเจน การย่อยได้ การหมักในกระเพาะรูเมน ระดับโปรตีนรวม ไตรกลีเซอร์ไรด์ BUN และ NEFA ในเลือด ผลผลิตน้ำนม และองค์ประกอบของ โปรตีน ไขมัน ของแข็งทั้งหมด ของแข็งที่ไม่รวมไขมันในน้ำนม และ 4%FCM แต่อาหารทดสอบ 2 ส่งผลทำให้ระดับกลูโคสในเลือด และองค์ประกอบแลคโตสในน้ำนมสูงกว่าอาหารทดสอบ 1 (p<0.05) นอกจากนี้พบว่าอาหารทดสอบ 2 มีปริมาณก๊าซรวมที่เวลา 24 และ 48 ชั่วโมง ค่า ME NEL และมีองค์ประกอบก๊าซมีเทน ที่สูงกว่าอาหารทดสอบ 1 (p<0.05) จากผลการทดลองสรุปได้ว่าการเสริมมันสำปะหลังเส้นที่ระดับ 0.5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว สามารถใช้เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต และแหล่งพลังงานสำหรับแพะนมที่ได้รับหญ้าแพงโกลาเป็นอาหารหยาบ โดยไม่ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการใช้อาหาร และค่าการหมักในกระเพาะรูเมน แต่ไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เลี้ยงแพะนม ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตควบคู่ไปกับการลดการผลิตก๊าซมีเทน