Abstract:
งานศึกษาชิ้นนี้ต้องการอธิบายผลของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มีผลต่อการตัดสินใจบริจาคของปัจเจกบุคคล โดยจำแนกการบริจาคออกเป็น 2 ประเภท คือ การอุดหนุนสินค้าสาธารณะ (คล้ายกับการจ่ายภาษี) และการบริจาคให้บุคคลเฉพาะ (คล้ายการให้ทาน) ทั้งนี้เนื่องจากในประเทศไทย คนนิยมบริจาคให้กับบุคคลเฉพาะ เช่น คนจน มากกว่าที่จะยินดีนำเงินไปอุดหนุนสินค้าสาธารณะผ่านการชำระภาษีที่เป็นเครื่องมือทางการคลังที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายผลประโยชน์ของสินค้าสาธารณะสู่สังคมอย่างทั่วถึง งานศึกษาชิ้นนี้ใช้การทดลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจำลองสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ให้กับนิสิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวน 100 คน โดยนิสิตจะได้รับการสุ่มเพื่อจัดกลุ่มและกำหนดบทบาทในการทดลอง บทบาทแบ่งได้เป็น 2 ฝ่ายคือ ผู้ให้ (Donator) และผู้รับ (Recipient) หากเป็นผู้ให้จะสามารถแบ่งเงินที่ได้รับให้แก่ 2 ทางเลือกคือ อุดหนุนสินค้าสาธารณะหรือบริจาคให้คนที่จนกว่า ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้กับตนเอง การทดลองได้ทำการปรับเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ทีละปัจจัย ได้แก่ รายได้ของผู้ให้ รายได้ของผู้รับ และตัวทวีคูณสินค้าสาธารณะเพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของภาครัฐ ผลการศึกษาพบว่า เมื่อรายได้ผู้ให้เพิ่มขึ้น ผู้ให้จะเพิ่มทั้งการอุดหนุนสินค้าสาธารณะและการบริจาคเงินให้คนจน ขณะที่หากรายได้ของผู้รับที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ให้ลดการจัดสรรทั้งสินค้าสาธารณะและการบริจาค แสดงให้เห็นว่าผู้ให้สนใจรายได้ของตัวเองและผู้อื่นในการตัดสินใจบริจาค ผลที่ได้นี้สอดคล้องกับผลที่ได้จากการทดลองที่เปลี่ยนแปลงช่องว่างรายได้ (Income Gap) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งรายได้ผู้ให้และผู้รับพร้อมกัน ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อรายได้ของผู้ให้เท่ากับผู้รับแล้ว ผู้ให้ยังคงบริจาคให้แต่ละทางเลือกอยู่ แสดงให้เห็นว่าผู้ให้มีลักษณะการให้เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่าให้เพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ นอกจากนี้ เมื่อช่องว่างทางรายได้เพิ่มขึ้น พบว่าผู้ให้จะเพิ่มการบริจาคให้คนจนในสัดส่วนที่มากกว่าอุดหนุนสินค้าสาธารณะเพิ่ม และเมื่อประสิทธิภาพของภาครัฐต่ำ ผู้ให้จะลดการอุดหนุนสินค้าสาธารณะในสัดส่วนที่มากกว่าการบริจาคให้คนจน สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการจัดสรรเงินของคนไทยที่ยินดีจะบริจาคเงินมากกว่าการนำเงินไปจ่ายภาษี นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ประสิทธิภาพของภาครัฐในการสร้างความเต็มใจจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่สำคัญในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำไม่น้อยไปกว่ามาตรการทางการคลังที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน