Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาภาพ "มาเลเซีย" ที่ปรากฏในวรรณกรรมร้อยแก้วไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงศึกษาบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับการนำเสนอภาพ "มาเลเซีย" ในช่วงเวลาดังกล่าว การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยเลือกศึกษาวรรณกรรมร้อยแก้วไทยประเภทสารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาเลเซีย ตั้งแต่ พ.ศ.2426 จนถึง พ.ศ.2545 จำนวน 26 เรื่อง การศึกษาพบว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏภาพหลักของมลายู 4 ภาพ คือ ดินแดนมลายูบางส่วนเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ดินแดนมลายูส่วนที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก ดินแดนมลายูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางไปเที่ยว "เมืองนอก" และดินแดนมลายูเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงก่อนสหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากอังกฤษนั้นพบว่าภาพหลักของมลายูที่ปรากฏมี 3 ภาพ คือ ดินแดนมลายูเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษจึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนมลายูหลังสงครามได้รับการบูรณะฟื้นฟูจากเมืองแม่ให้เจริญก้าวหน้าอีกครั้งและดินแดนมลายูมีลักษณะสังคมแบบพหุวัฒนธรรมที่มีประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ เมื่อสหพันธรัฐมาลายาได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) จนถึง พ.ศ. 2545 พบว่าภาพหลักของมาเลเซียที่ปรากฏช่วงนี้มี 4 ภาพ คือ มาเลเซียเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนาในด้านต่างๆมากกว่าประเทศไทย มาเลเซียเป็นประเทศที่มีสังคมแบบพหุวัฒนธรรม ประเทศมาเลเซียเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทยและเป็นคู่แข่งทางการท่องเที่ยวของไทยและประเทศมาเลเซียมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีกับประเทศไทย จากการศึกษาภาพ "มาเลเซีย" ที่ปรากฏในช่วงเวลาต่างๆพบว่ามีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่างๆไม่ว่าจะเป็นจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของแหลมมลายู บริบททางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียตั้งแต่อดีตเรื่อยมา รวมถึงนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลมาเลเซียหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นต้นมาด้วยเช่นกัน