Abstract:
พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และมีชุมชนประมงพื้นบ้านตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน ชาวบ้านมีการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม ผลกระทบจากการพัฒนาของเมือง ในปี พ.ศ.2540 ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรมและสภาพแวดล้อมเกิดปัญหาทางด้านกายภาพ ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ชาวบ้านนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ในชุมชนอย่างสอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมจนสามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ในปี พ.ศ.2543 วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ชุมชน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างชาวบ้านและธรรมชาติ โดยการศึกษาผ่านลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางสังคม ข้อมูลในบทความได้มาจากการสำรวจภาคสนามในพื้นที่ 6 ชุมชน เพื่อให้เห็นภาพรวมของภูมิทัศน์ชุมชนประมงพื้นบ้านที่มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่แตกต่างกัน ผลการศึกษาพบว่า ความยั่งยืนของภูมิทัศน์ชุมชนไม่ใช่การจัดการทางลักษณะทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ลักษณะทางสังคมยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนอีกด้วย โดยระบบความเชื่อของชุมชน ประกอบด้วย ความเชื่อที่เกี่ยวข้องศาสนาอิสลามและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นกรอบกำหนดพฤติกรรมของชาวบ้าน ทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงการรักษาสมดุลของระบบนิเวศเป็นสำคัญ ดังนั้นการดำรงอยู่ของภูมิทัศน์ชุมชนและพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่จึงมีความสัมพันธ์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน