Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะน้ำท่าในลุ่มน้ำน่านตอนบนจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่และการเปลี่ยนแปลงฝน โดยใช้แบบจำลอง Integrated Flood Analysis System (IFAS) ผู้วิจัยได้สอบเทียบแบบจำลองกับปริมาณน้ำท่ารายวันที่สถานี N.1 อ.เมือง จ.น่าน ปี พ.ศ.2550-2553 และทดสอบประสิทธิภาพของแบบจำลองในการทำนายลักษณะน้ำท่าระหว่างปี พ.ศ.2554-2557 พบว่าแบบจำลอง IFAS สามารถทำนายกราฟน้ำท่าได้โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ Nash-Sutcliffe เท่ากับ 0.82 ผู้วิจัยได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พืชไร่ของลุ่มน้ำน่านตอนบนในปี พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2562 และพ.ศ. 2567 ผลการศึกษาพบว่า หากลุ่มน้ำน่านตอนบนได้รับฝนเช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2552 จะมีปริมาณน้ำท่าเพิ่มขึ้น 5.19 ล้าน ลบ.ม. ต่อการเพิ่มของพื้นที่พืชไร่ 1,000 ไร่ ในด้านของการเปลี่ยนแปลงฝน ผู้วิจัย เลือกพิจารณาฝนที่มีคาบการเกิดซ้ำใกล้เคียงกับฝนในปี พ.ศ.2552 ทั้งหมด 4 รูปแบบ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น จะถูกกระจายตามสัดส่วนของปริมาณฝนรายวันในปี พ.ศ. 2552 ผลการศึกษาพบว่าหากการใช้ที่ดินไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปี พ.ศ. 2552 เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่ารวมจะเพิ่มขึ้นแบบเอกซ์โพเนเชียล โดยที่ความเข้มฝนจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยามากกว่าปริมาณฝน และเมื่อพิจารณาทั้งการเปลี่ยนแปลงพื้นที่พืชไร่และปริมาณฝนในเวลาเดียวกัน พบว่า เมื่อปริมาณฝนน้อยพื้นที่พืชไร่มีอิทธิพลต่อการเกิดน้ำท่ามากกว่าปริมาณฝน ในอัตราส่วน 57:43 แต่เมื่อปริมาณฝนเพิ่มขึ้นปริมาณฝนจะส่งอิทธิพลให้เกิดน้ำท่ามากกว่าอิทธิพลจากพื้นที่พืชไร่ ในอัตราส่วน 65:35