Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษารูปแบบและแนวคิดในการสร้างงานนาฏยศิลป์ไทยเพื่อการอนุรักษ์และสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาการแสดงชุด “เพนดูลัม: อีสท์ แอน เวสท์ อิน อะ ไลฟ์ ออฟ ดานซ์” ซึ่งสร้างสรรค์และแสดงเดี่ยวโดย นราพงษ์ จรัสศรี ในปี ค.ศ. 1983 ณ เมืองเวลส์ ประเทศสหราชอาณาจักร โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากงานเอกสาร ร่วมสัมมนา สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ การทำการแสดงซ้ำ (Reproduction) โดยทดลองสร้างการแสดงชุด “เพนดูลัม” ขึ้นใหม่ และประเมินผลเพื่อหาวิธีการทำงาน ผลการวิจัยพบว่าการแสดงชุดเพนดูลัม สามารถเป็นตัวแทนของการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 1) บทการแสดงใช้เพื่อเล่าเรื่องราว 2) ลีลาการแสดงแบบนาฏยศิลป์ไทย บัลเลต์ และนาฏยศิลป์ร่วมสมัย 3) นักแสดงคนเดียวที่มีความสามารถหลากหลายทางการแสดง 4) เครื่องแต่งกายออกแบบบนพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรมไทยและตะวันตกที่ใช้เทคนิคการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายบนเวทีแสดง 5) เสียงและดนตรีใช้ดนตรีไทยเดิมและเสียงพูดที่ออกแบบให้เหมาะสมกับเรื่องราว 6)พื้นที่เวทีสำหรับการแสดงถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพในเรื่องของที่ว่าง 7) แสงสำหรับการแสดงถูกใช้เพื่อแนะนำสายตาผู้ชม 8) อุปกรณ์การแสดงใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบเรื่องราวที่แสดง และแนวคิดในการสร้างงานที่สำคัญ 3 ประการที่พบ คือ 1) การใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ให้ศิลปวัฒนธรรมไทยโดดเด่นท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมอื่นอย่างสร้างสรรค์ 2)การใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารเพื่อสร้างอรรถรสในการแสดง 3)การใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียในการแสดง จากการประเมินแนวความคิดพบว่า การตีความ(Interpretation)เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยผ่านระบำและการตีบท (Acting) การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยนั้นสามารถใช้ท่ารำ เพลงดนตรีและเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมอย่างสร้างสรรค์ จะเห็นได้ว่าการสร้างงานนาฏยศิลป์ไทยเชิงอนุรักษ์และสร้างสรรค์สำหรับคนรุ่นใหม่ ถ้าทำอย่างมีหลักการจะสามารถสร้างงานที่มีคุณภาพอันเป็นการสืบทอด อนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติสู่ประชาคมโลกอย่างภาคภูมิ