Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง แบบแผน ลีลาและกระบวนท่ารำลงสรงทรงเครื่องตัวนางละครในเรื่อง อิเหนา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาประวัติความเป็นมา แบบแผน ลีลาและกระบวนท่ารำในการแสดงลงสรงทรงเครื่องของตัวนางละครในเรื่อง อิเหนา วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วยการศึกษาจากวรรณกรรม ตำราหนังสือที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์และการสังเกตการณ์ ตลอดจนรับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำจากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏยศิลป์ไทย ผลการวิจัยพบว่า การรำลงสรงทรงเครื่อง เป็นการรำที่แสดงถึงการอาบน้ำแต่งกายของตัวละคร สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีและธรรมเนียมการปฏิบัติในพระราชสำนักและประเพณีของสามัญชน ที่มีความเชื่อว่าน้ำเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความเป็นสิริมงคล จึงมีการอาบน้ำแต่งกายก่อนจะกระทำพิธีสำคัญต่างๆ ในการแสดงนาฏยศิลป์ไทยได้มีการนำวรรณกรรมที่มีการสอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณีมาถ่ายทอดผ่านกระบวนท่ารำลงสรงทรงเครื่อง เพื่อให้เห็นถึงสุนทรียศาสตร์ด้านการแสดงที่มีความงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรำลงสรงทรงเครื่องของตัวนางละครในเรื่อง อิเหนา จะทำการลงสรงทรงเครื่องก่อนการเดินทาง ก่อนเข้าเฝ้าบุคคลสำคัญ รวมทั้งการเข้าร่วมหรือประกอบพิธีสำคัญต่างๆ แบบแผน ลีลาและกระบวนท่ารำลงสรงทรงเครื่องตัวนางละครในเรื่อง อิเหนา มีแบบแผนของการแสดงที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. ท่ารำ 2. บทร้องและเพลงที่ใช้ในการแสดง 3. เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับศีรษะ ซึ่งผู้แสดงจะต้องถ่ายทอดท่ารำด้วยลีลาแบบละครในที่มีความละเอียดอ่อน นุ่มนวล สง่างามแฝงไว้ด้วยพลัง มีเสน่ห์ชวนให้ติดตาม โดยใช้กระบวนท่ารำตีบทที่มีความหมายสอดคล้องกับการอาบน้ำแต่งกายของตัวละครตามบทร้องในรูปแบบมาตรฐานนาฏยศิลป์ไทย เพื่อเน้นให้เห็นถึงความประณีตของเครื่องแต่งกายและความวิจิตรงดงามของเครื่องประดับที่ตัวละครสวมใส่ การรำลงสรงเครื่องตัวนางละครในเรื่อง อิเหนา จึงเป็นเหมือนเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการแสดงนาฏยศิลป์ที่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณี ความเชื่อและการแต่งกายของสตรีชั้นสูงในราชสำนักในสมัยโบราณ ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป