Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางไวยากรณ์ของคำสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่ปรากฏใช้มากในภาษาไทยกรุงเทพฯ ปัจจุบัน จำนวน 5 คำ ได้แก่ คำว่า เรา ผม หนู ข้า และข้าพเจ้า โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2325 - 2555) ผลการศึกษาพบว่า คำสรรพนามบุรุษที่ 1 ทั้ง 5 คำ ได้แก่ คำว่า เรา ผม หนู ข้า และข้าพเจ้า มีการเปลี่ยนแปลงหมวดคำ เช่น มีการเพิ่มหมวดคำจากหมวดคำนามเป็นหมวดคำบุรุษ สรรพนาม (คำนาม “ผม” ขยายหน้าที่เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 1 “ผม” ในสมัยรัชกาลที่ 4-5) มีการเพิ่มหมวดคำจากหมวดคำนามเป็นส่วนของคำลงท้าย (คำนาม “ผม” ขยายหน้าที่เป็นส่วนของคำ ลงท้าย “ครับผม” ในสมัยรัชกาลที่ 6-8) และมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางไวยากรณ์ เช่น คำบุรุษสรรพนาม “เรา” มีการขยายหน้าที่จากบุรุษที่ 1 เป็นบุรุษที่ 2 และมีการขยายหน้าที่จากพหูพจน์เป็นเอกพจน์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นมีลักษณะสอดคล้องกับกระบวนการกลายเป็นคำไวยากรณ์ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำสรรพนามบุรุษที่ 1 ทั้ง 5 คำ มี 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ได้แก่ (1) ปัจจัยทางวัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมในเรื่องของความอาวุโสหรือชั้นทางสังคม วัฒนธรรมการใช้คำแทนของสังคมไทย และปัจจัยความสุภาพ (2) ปัจจัยทางภาษา ได้แก่ ปัจจัยอุปลักษณ์ ปัจจัยนามนัย ปัจจัยการใกล้ชิดกันของชื่อ ปัจจัยความเป็นพหูพจน์ ปัจจัยการรวมผู้ฟัง ปัจจัยการมีลักษณะทางความหมายร่วมกัน และปัจจัยการใช้ซ้ำจนเป็นแบบแผน ส่วนกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการกลายเป็นคำไวยากรณ์ของคำสรรพนามบุรุษที่ 1 มีรวมทั้งสิ้น 7 กระบวน จำแนกเป็นกระบวนการทางวากยสัมพันธ์ ได้แก่ กระบวนการแยก กระบวนการสูญคุณสมบัติของหมวดคำเดิม และกระบวนการบังคับการปรากฏ กระบวนการทางอรรถศาสตร์ ได้แก่ กระบวนการจางลงทางความหมาย และกระบวนการคงเค้าความหมายเดิม กระบวนการทางเสียง ได้แก่ กระบวนการกร่อน และการรวมเป็นคำเดียวกัน/การรวมเสียง