Abstract:
ศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของมหาวิทยาลัยไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459-2500 โดยเน้นการศึกษาใน 3 ด้านคือ แนวคิดและความเป็นมา รูปแบบโครงสร้างของกระบวนการจัดการศึกษา และผลของการจัดการศึกษา จากการศึกษาพบว่า มหาวิทยาลัยไทยได้มีจุดกำเนิดและแนวคิดมาจากความมุ่งหมายในการผลิตคน เพื่อเข้ารับราชการในหน่วยงานของรัฐอันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2435 โดยมีที่มาจากการผสมผสานแนวความคิดที่ได้จากการศึกษาดูงานจากต่างประเทศ แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสังคมไทย โดยนำแนวคิดสำคัญมาจากญี่ปุ่นและอินเดีย ซึ่งผ่านการรับและถ่ายทอดมาจากตะวันตกอีกทอดหนึ่ง ในขั้นต้นมหาวิทยาลัยไทยได้ขยายงานจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้ขยายงานจากการผลิตคนเข้ารับราชการ เพื่อเป็นการเรียนการสอนแบบตลาดวิชาเพื่อขยายความมุ่งหมายให้กว้างออกไป จึงได้ทำการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น แต่ปรากฏว่าผลจากการเรียนการสอนในระยะแรกนั้นมีอุปสรรคที่สำคัญคือ ด้านงบประมาณ หลักสูตร ความไม่เหมาะสมของสถานที่และการขาดแคลนบุคลากร จึงทำให้การเรียนการสอนในระยะแรกยังไม่ถึงขั้นปริญญาตรี ภายหลังที่ได้มีการเจรจาความร่วมมือระหว่างมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์กับรัฐบาลไทย จึงทำให้สามารถจัดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตได้สำเร็จเป็นปีแรก ใน พ.ศ. 2466 จนมีผู้สำเร็จการศึกษาครั้งแรกใน พ.ศ. 2471 อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยยังคงมีภารกิจหลักทางด้านการสอน ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนมากก็ยังคงเข้ารับราชการเป็นสำคัญ ยกเว้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สามารถเข้าทำงานในบริษัทเอกชนได้ด้วย กิจกรรมนิสิตในช่วงเวลานี้ยังเน้นทางด้านความบันเทิงและกีฬาเป็นหลัก หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านกฎหมาย การเมืองการปกครอง ให้แพร่หลายสู่ประชาชนเพื่อรองรับต่อระบบการปกครอง ในเวลานี้มหาวิทยาลัยได้มีรูปแบบโครงสร้างที่อิสระมากขึ้น จึงทำให้สามารถพัฒนาการศึกษาไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น จนทำให้มีการขยายการเรียนการสอนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของทั้งสองมหาวิทยาลัย และยุคนี้นิสิตนักศึกษาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อขยายงานตามความมุ่งหมายของรัฐในเฉพาะด้านตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปรากฏว่าการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ยังไม่ก้าวหน้ามากนักเพราะอยู่ในช่วงระหว่างการก่อตั้งและขาดแคลนงบประมาณ ส่วนมหาวิทยาลัยที่ตั้งมาก่อนหน้านั้น สามารถดำเนินงานไปได้อย่างก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ