Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจอันส่งผลต่อความเข้มแข็งของสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เนื้อหาแบ่งออกเป็น5บท โดยบทแรกกล่าวถึงสถานภาพของสถาบันกษัตริย์ที่เผชิญกับความยากลำบากจากการที่ขุนนางตระกูลบุนนาคได้มีบทบาทอย่างสูงในการควบคุมการเมืองและระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นรัชกาลที่5ในช่วงต่อมาหลังจากที่ทรงได้รับมอบอำนาจคืนจากผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ทรงมีพระราชดำริในการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยทรงนำสยามเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกอันก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างทางการเมืองและการควบคุมเศรษฐกิจโดยที่ผลกระทบดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการลดทอนและขจัดอำนาจขุนนางตระกูลบุนนาคในท้ายที่สุด ในบทที่สองกล่าวถึงการสะสมทุนและการเติบโตของทุนราชสำนักในอดีตผ่านการลงทุนของกรมพระคลังข้างที่ซึ่งได้รับจากงบประมาณแผ่นดินและที่ดินซึ่งมีอยู่จำนวนมากและได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสำเร็จของพระคลังข้างที่ได้สร้างความเข้มแข็งและความมั่งคั่งให้แก่สถาบันกษัตริย์และพัฒนาเป็นทุนชั้นนำขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในช่วงท้ายบทได้กล่าวถึงความเสื่อมถอยของราชสำนักอันเป็นผลมาจากถูกลิดรอนพระราชอำนาจหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 บทที่สามกล่าวถึงการฟื้นฟูพระราชอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านการสั่งสมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อันส่งผลให้สถาบันกษัตริย์กลับไปมีความเข้มแข็งเหมือนสมัยสมบูรณาญาณสิทธิราชย์อันส่งผลต่อการส่งเสริมและคุ้มครองต่อธุรกิจของราชสำนัก บทที่สี่ได้กล่าวถึงบทบาทด้านการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อันส่งผลต่อการสร้างเสถียรภาพแห่งราชบัลลังก์ผ่านการสร้างเครือข่ายทุนศักดินาสมัยใหม่ โดยการลงทุนร่วมกันระหว่างราชสำนักและนักธุรกิจ และบทที่ห้าเป็นบทสรุป