Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถประสงค์เพื่อ 1. เปรียบเทียบความสามารถในการประมาณจำนวนในเด็กอายุ 5-7 ปี 2. เปรียบเทียบความสามารในการกะประมาณจำนวนในเด็กอายุ 5-7 ปี ในแต่ละขนาดกลุ่มจำนวน คือ 5 8 11 และ 14 กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล และประถมศึกษา ที่มีอายุ 5-7 ปี จำนวน 90 คน แบ่งเป็น 3 ระดับ อายุ คือ 5 ปี 6 ปี และ 7 ปี ระดับอายุละ 30 คน เป็นเด็กชาย 15 คน และเป็นเด็กหญิง 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ ได้ดัดแปลงมาจากการศึกษาของ Huntley-Fenner (2001) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ (Two-Way ANOVA with Repeated Measures) ความสามารถจำนวนวัดจากเปอร์เซ็นต์ความเบี่ยงเบนสัมบูรณ์ เปอร์เซ็นคำตอบถูก และ ค่าสัมประสิทธิ์ความผันแปร ผลการวิจัยพบอิทธิพลหลักของทั้ง 2 ปัจจัยคือ ระดับอายุ และขนาดกลุ่มจำนวน และความสัมพันธ์ระหว่างระดับอายุและขนาดกลุ่มจำนวน ผลจากการศึกษาเปอร์เซ็นคำตอบถูก พบว่าผลการวิจัยสนับสนุนสมมุติฐานการวิจัยดังนี้ 1. เปอร์เซ็นคำตอบถูกของเด็กอายุ 7 ปี มากกว่าเด็กอายุ 6 ปี และ 5 ปี ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. ขนาดกลุ่มจำนวน 5 มีเปอร์เซ็นคำตอบถูกมากกว่าขนาดกลุ่มจำนวน 8, 11, และ 14 ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สำหรับการศึกษาเปอร์เซ็นความเบี่ยงเบนสัมบูรณ์ และค่าสัมประสิทธิ์ความผันแปรพบว่าสนับสนุนสมมุติฐานการวิจัยเพียงบางส่วน จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ร่วมระหว่างระดับอายุและขนาดกลุ่มจำนวน พบความแตกต่างระหว่างอายุในขนาดกลุ่มจำนวน 5 โดยพบว่าเด็กอายุ 5 ปี มีเปอร์เซ็นต์ความเบี่ยงเบนสัมบูรณ์ มากกว่าเด็กอายุ 6 ปี และ 7 ปี ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเด็กอายุ 7 ปี มีเปอร์เซ็นต์คำตอบถูกมากกว่าเด็กอายุ 6 ปี และ 5 ปี ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับค่าสัมประสิทธิ์ความฝันแปรพบว่าเด็กอายุ 5 ปี และ 6 ปี มีค่าสัมประสิทธิ์ความผันแปรมากกว่าเด็กอายุ 7 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05