Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้คือ เพื่อ (1) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสองวิธีการวัดความยากง่ายในการใช้งาน (Ease of use) ของไซต์แมพ โดยหนึ่งวัดจากแบบสอบถามที่ใช้มาตราการประเมิน และสองวัดจากเครื่องมือวัดเชิงพฤติกรรม คือระยะเวลากับจำนวนข้อผิดพลาดในการใช้งาน (2) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสองวิธีการวัดประโยชน์ (Usefulness) ของไซต์แมพ โดยหนึ่งวัดจากแบบสอบถามที่ใช้มาตราการประเมิน และสองวัดจากเครื่องมือวัดเชิงพฤติกรรม คือ ความถูกต้องในการใช้งาน (3) เปรียบเทียบระดับความยากง่ายในการใช้งานไซต์แมพสามรูปแบบและ (4) เปรียบเทียบระดับประโยชน์ของไซต์แมพสามรูปแบบ ในที่นี้ไซต์แมพทั้งสามคือ ไซต์แมพแบ่งตามประเภทหัวข้อเรื่อง (Categorical) ไซต์แมพแสดงกราฟิก (Graphical) และไซต์แมพแบ่งตามลำดับชั้น (Hierarchical) งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจจากตัวอย่างในห้องปฏิบัติการ ซึ่งหน่วยตัวอย่างที่นำมาใช้เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือ นิสิตปริญญาบัณฑิต ชั้นปีสาม จากภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านการเรียนวิชาทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการใช้คอมพิวเตอร์ทางธุรกิจ จำนวน 120 คน ผลการวิจัยพบว่า วิธีการวัดด้วยแบบสอบถามไม่มีความสัมพันธ์กับการวัดด้วยเครื่องมือวัดเชิงพฤติกรรม ไม่ว่าจะใช้วัดความยากง่ายหรือประโยชน์ในการใช้งานไซต์แมพ นอกจากนี้ความยากง่ายในการใช้งานระหว่างไซต์แมพสามรูปแบบจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวัดด้วยเครื่องมือวัดเชิงพฤติกรรม โดยไซค์แมพแบ่งตามประเภทหัวข้อเรื่อง มีความง่ายในการใช้งานน้อยกว่า ไซต์แมพแบ่งตามลำดับชั้น แต่ไซต์แมพแสดงแบบกราฟิก ไม่มีความแตกต่างกับไซต์แมพทั้งสอง ส่วนการเปรียบเทียบความยากง่ายในงานระหว่างไซต์แมพสามรูปแบบ เมื่อวัดด้วยแบบสอบถามและประโยชน์ในการใช้งานไซต์แมพสามรูปแบบเมื่อวัดด้วยเครื่องมือทั้งสองให้ผลเช่นเดียวกัน คือความแตกต่างในการเปรียบเทียบไม่มีนัยสำคัญ