Abstract:
พลูคาวเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีมากในภาคเหนือของไทย มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลายรวมทั้งฤทธิ์ในการต้านมะเร็งและต้านการอักเสบ สารออกฤทธิ์ที่พบในพลูคาวมีหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ น้ำมันหอมระเหย และอัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ในกลุ่มย่อยฟลาโวนอลที่พบได้ในพลูคาว คือ รูติน เคอร์เซติน ไอโซเคอร์เซติน และไฮเปอร์ริน แม้ว่าฟลาโวนอยด์มีสมบัติเป็นประโยชน์ที่หลากหลายแต่พบว่ามีการศึกษาถึง รูติน และไอโซเคอร์เซติน ค่อนข้างน้อย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดพลูคาว เคอร์เซติน ไอโซเคอร์เซตินและรูติน ในการยับยั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต้านการอักเสบ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดพลูคาว เคอร์เซติน ไอโซเคอร์เซติน และรูติน สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเพาะเลี้ยง Jurkat, K562 และ U937 โดยวิธี XTT assay มีค่า IC50 อยู่ระหว่าง 404.89-456.17 µg/ml ในสารสกัดพลูคาว และ 61.48-114.16 µg/ml ในสารฟลาโวนอล จากผลการทดสอบ microscopic analysis พบรูปแบบการหดแฟบของเยื่อหุ้มเซลล์ (blebbing pattern) ของการเกิดอะโพโทซิสภายหลังการบ่มเซลล์ด้วยเคอร์เซติน ไอโซเคอร์เซตินที่ความเข้มข้น 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดพลูคาวที่ความเข้มข้น 250 และ 300 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรเป็นเวลา 48 ชั่วโมง นอกจากนี้สารสกัดพลูคาว เคอร์เซติน ไอโซเคอร์เซติน และ รูติน สามารถชักนำให้เกิดการตายแบบอะโพโทซิสภายหลังการบ่มเซลล์ที่เวลา12 และ 24 ชั่วโมง และวิเคราะห์ด้วยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ เมื่อทำการศึกษาไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องพบว่า สารสกัดพลูคาวและสารฟลาโวนอล โดยเฉพาะสารเคอร์เซติน และไอโซเคอร์เซติน ให้ผลในการลดปริมาณการหลั่งของไซโตไคน์ที่มีบทบาทในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือด (IL-2) และกระบวนการอักเสบ (IL-6, IL-8, IFN--y และ TNF-α)ลดลงอย่างชัดเจน จากการวิจัยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า พลูคาวมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญและต้านการอักเสบของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาทางด้านกลไกระดับโมเลกุลเพิ่มเติม