Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผู้หญิงกับบทบาทความเป็นแม่ในนวนิยายไทยตั้งแต่พ.ศ.2510-2546 ซึ่งเป็นช่วงนวนิยายไทยนำเสนอเนื้อหาที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นแม่ โดยวิเคราะห์ความหลากหลายของแนวคิดเรื่องแม่ที่นำเสนอในนวนิยายไทยที่สัมพันธ์กับเพศสถานะ ชนชั้น และสถานะทางสังคม แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับความเป็นแม่แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือแนวคิดเรื่องความเป็นแม่แนวขนบได้แก่ความหมายและความสำคัญของความเป็นแม่ในสังคมและวัฒนธรรมไทย คติเรื่องแม่ในคัมภีร์พุทธเถรวาทและแม่ในสังคมและวัฒนธรรมไทย ความรักของแม่และสัญชาตญาณความเป็นแม่ กับแนวคิดเรื่องความเป็นแม่จากมุมมองสตรีนิยม ได้แก่ การปฏิเสธความเป็นแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นแม่กับอำนาจรัฐ และอำนาจความเป็นแม่ ผลการศึกษาความเป็นแม่ในบริบทของสังคมไทย พบว่าสามารถแบ่งช่วงของนวนิยายที่นำเสนอผู้หญิงกับบทบาทความเป็นแม่ได้เป็น 4 ช่วง ช่วงแรกพ.ศ.2510 – 2519 แม่ยุคเสรีนิยม ช่วงที่สองพ.ศ.2520 – 2530 แม่ยุคพัฒนาสตรี ช่วงที่สามพ.ศ.2531 – 2540 แม่ยุคเรียกร้องสถาบันครอบครัว ช่วงที่สี่ พ.ศ.2540 – 2546 แม่ยุคยอมรับความหลากหลายของความเป็นแม่ แต่ละช่วงเวลามีพัฒนาการความคิดเกี่ยวกัยความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นแม่กับชนชั้น เพศสถานะและสถานะทางสังคม บริบททางสังคมที่มีผลกระทบต่อความเป็นแม่คือการพัฒนาทางสังคมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความคิดตามแนวทางสตรีนิยม วาทกรรมวันแม่ และการต่อสู้ทางวัฒนธรรมและการเรียกร้องอัตลักษณ์ กระบวนการผลิตซ้ำ ต่อรอง และสืบทอดความเป็นแม่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการสืบทอดแนวคิดความเป็นแม่แนวขนบหรือแม่ในอุดมคติที่มีการปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคม กับการรับแนวคิดแม่ในแนวสตรีนิยม ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นแม่กับรัฐชาติ ชนชั้น เพศสถานะและสถานะทางสังคม ผลการศึกษาสรุปได้ว่านวนิยายไทยเสนอว่าความเป็นแม่เป็นบทบาทสำคัญที่สังคมกำหนดให้ผู้หญิงมี ผู้เขียนนวนิยายได้แสดงปัญหาและตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นแม่โดยแสดงความขัดแย้งระหว่างอุดมคติของแม่ที่ดี กับผู้หญิงในฐานะปัจเจกบุคคล นวนิยายมีบทบาทสืบทอด ต่อรองและผลิตซ้ำ ความเป็นแม่อันเป็นอุดมการณ์ทางสังคมซึ่งอาจปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของสังคม