Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินค่ากำลังแรงยึดแบบผลักของเรซินซีเมนต์ชนิดต่างๆเมื่อยึดเดือยฟันคอมโพสิตเสริมเส้นใยในคลองรากฟัน เพื่อตรวจสอบผลการปรับสภาพผนังคลองรากฟันก่อนยึดเดือยฟันด้วยเซลฟ์แอดฮิซิฟเรซินซีเมนต์และเปรียบเทียบตำแหน่งของรากฟันต่อค่ากำลังแรงยึดแบบผลัก โดยใช้ฟันมนุษย์ซี่กรามน้อยล่างรากเดียวจำนวน 60 ซี่ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ซี่โดยวิธีสุ่ม ตัดตัวฟันออกรักษารากฟันและเตรียมพื้นที่สำหรับเดือยฟันไฟบริเคลียร์เบอร์ 3 เตรียมคลองรากฟันตามกลุ่มทดลองดังนี้ กลุ่มที่ 1 ใช้สารยึดติดเอ็กไซท์ดีเอสซีและวาริโอลิงค์ทู กลุ่มที่ 2 ใช้สารยึดติดอีดีไพรเมอร์ทูและพานาเวียเอฟ 2.0 กลุ่มที่ 3 ใช้รีไลเอ็กซ์ยูนิเซม กลุ่มที่ 4-6 ปรับสภาพผนังคลองรากฟันก่อนยึดเดือยฟันด้วยรีไลเอ็กซ์ยูนิเซม ด้วยกรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 นาน 5 วินาที หรืออีดีทีเอความเข้มข้นร้อยละ 17 นาน 60 วินาที และอีดีทีเอความเข้มข้นร้อยละ 17 นาน 60 วินาที ตามด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ความเข้มข้นร้อยละ 2.5 นาน 15 วินาที ตามลำดับ ตัดฟันทุกซี่เป็น 6 ชิ้น แต่ละชิ้นหนา 1±0.05 มิลลิเมตร เป็นตัวแทนของส่วนต้น กลางและปลายรากฟัน ทดสอบค่ากำลังแรงยึดแบบผลักด้วยเครื่องทดสอบอินสตรอน ความเร็วของหัวกด 0.5 มิลลิเมตรต่อนาที นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางและเปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดทูกีย์ ที่ระดับนัยสำคัญ P<0.05 และวิเคราะห์ลักษณะการแตกที่เกิดขึ้นของทุกชิ้นทดสอบ ผลการทดลองพบว่าปัจจัยเรื่องตำแหน่งของรากฟันส่งผลต่อค่าเฉลี่ยกำลังแรงยึดในกลุ่มที่ 1 เท่านั้น (P<0.05) ค่ากำลังแรงยึดแบบผลักของกลุ่มที่ 1 ในส่วนต้นมีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ 2 และ 3 ตลอดคลองรากฟัน ค่ากำลังแรงยึดของกลุ่มที่ 1 ในส่วนกลางรากฟันมีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ 2 แต่ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ 3 ตลอดคลองรากฟัน (P>0.05) โดยค่ากำลังแรงยึดแบบผลักของกลุ่มที่ 1-3 ในส่วนปลายรากฟันมีค่าไม่แตกต่างกัน (P>0.05) นอกจากนั้นพบว่าค่ากำลังแรงยึดแบบผลักในกลุ่มที่ 4 มีค่าสูงกว่ากลุ่มที่ 3 5 และ 6 (P<0.05) ในขณะที่กลุ่มที่ 3 และ 6 มีค่าไม่ต่างกัน (P>0.05)