Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวิจัยนิทานพื้นบ้านจีน เรื่องเล่าอาฝานถีใน 3 ประเด็นหลักคือ ประเด็นที่หนึ่ง ศึกษาอนุภาคที่ปรากฏใน เรื่องเล่าอาฝานถี ประเด็นที่สอง วิเคราะห์กลวิธีการพลิกความหมายในการนำเสนอ เรื่องเล่าอาฝานถี ในฐานะนิทานมุขตลกแนวเสียดสี ประเด็นที่สาม วิเคราะห์นัยทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นในนิทานมุขตลกแนวเสียดสี เรื่องเล่าอาฝานถี ผลการวิจัยพบว่า ประการแรก อนุภาคใน เรื่องเล่าอาฝานถี มีทั้งหมด 7 อนุภาค คือ อนุภาคการตีความอย่างเถรตรง อนุภาคการใช้อุบาย อนุภาคการกระทำเรื่องเหลือเชื่ออนุภาคเกี่ยวกับสิ่งสกปรกและเรื่องเพศ อนุภาคเกี่ยวกับการหลอกลวงความไว้วางใจ อนุภาคเกี่ยวกับการทดสอบความฉลาดหรือความสามารถ อนุภาคเกี่ยวกับบุคคลและสังคม ประการที่สอง กลวิธีการพลิกความหมายในการนำเสนอ เรื่องเล่าอาฝานถีมีทั้งหมด 5 กลวิธี ได้แก่กลวิธีที่หนึ่ง การเล่นคำ พบการเล่นคำหลากหลายรูปแบบ อาทิ การเล่นคำที่ลวงให้เกิดการตีความผิด การเล่นคำที่มีการตอกย้ำความกำกวม การตีความความหมายของคำใหม่ การประชดการเล่นคำอนุนามนัย และการเล่นคำสัญลักษณ์ กลวิธีที่สอง คือ กลวิธีการให้เหตุผล ได้แก่ การให้เหตุผลที่เป็นจริง และการให้เหตุผลผิดที่ กลวิธีที่สาม คือ กลวิธีการนำเสนอให้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ กลวิธีที่สี่ คือ กลวิธีการใช้กลอุบายโดยการวางแผน และกลวิธีที่ห้า คือ กลวิธีการสอดแทรกคติสอนใจ ประการที่สาม คือ นัยทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นใน เรื่องเล่าอาฝานถี นี้คือคู่ตรงข้ามที่นำเสนอในนิทานเรื่องนี้ล้วนเป็นบุคคลที่มีอำนาจในสังคมอาทิ จักรพรรดิ นักบวช และผู้ปกครองหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทั้งเพื่อผ่อนคลายความกดดันจากปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมจึงนำเสนอบุคคลเหล่านี้ในฐานะ “ตัวตลก” ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้