Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของคำศัพท์ที่มีความถี่ในการปรากฏสูงในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย โดยมีการเปรียบเทียบการขยายวงศัพท์ รวมถึงการขยายขอบเขตทางความหมายและหน้าที่ในสองมิติ คือเปรียบเทียบระหว่างช่วงชั้น และเปรียบเทียบระหว่างหลักสูตร โดยมีสมมติฐานว่าช่วงชั้นที่สูงขึ้นจะมีวงศัพท์มากกว่าและครอบคลุมช่วงชั้นที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ยังมีความหมายและหน้าที่ของคำศัพท์เพิ่มมากขึ้นตามช่วงชั้นด้วย ส่วนในเชิงหลักสูตรมีสมมติฐานว่า แต่ละหลักสูตรมีวงศัพท์ร่วมกันร้อยละ 90 ขึ้นไป รวมทั้งมีความหมายและหน้าที่เหมือนกันทุกหลักสูตร งานวิจัยชิ้นนี้จะศึกษาตามแนวทางภาษาศาสตร์คลังข้อมูล จากคลังข้อมูลหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย (TTC) ขนาด 3,037,772 คำที่สร้างขึ้น ซึ่งมีจำนวนศัพท์รวมทั้งสิ้น 19,494 รูปศัพท์ ผลการศึกษาพบว่า คลังข้อมูลมีขนาดใหญ่ขึ้นตามช่วงชั้นที่สูงขึ้นทั้งในเชิงรูปศัพท์และจำนวนคำในการปรากฏ อย่างไรก็ตาม รูปศัพท์ในช่วงชั้นที่สูงกว่าไม่ได้ครอบคลุมทุกรูปศัพท์ในช่วงชั้นที่ต่ำกว่า นอกจากนี้วงศัพท์ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุก ๆ ช่วงชั้น แต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในระหว่างชั้นประถมต้นส่งต่อไปยังชั้นประถมปลาย และจำนวนวงศัพท์ค่อนข้างคงที่ในช่วงชั้นต่อจากนั้น แสดงให้เห็นว่าช่วงชั้นประถมปลายเป็นช่วงชั้นที่มีการเติบโตในเชิงวงศัพท์สูงที่สุด วงศัพท์ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคำเนื้อหา ซึ่งในส่วนนี้เป็นผลมาจากเนื้อหาในบทเรียนที่นำเสนอเรื่องราวและบทอ่านที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถตัดสินความยากง่ายที่เกิดขึ้นได้โดยตรง แต่เมื่อพิจารณาความยากง่ายของคำศัพท์และของตัวบทในเชิงจำนวนพยางค์ การสร้างคำ รูปเขียนกับความเป็นไปได้ในการออกเสียง และความทึบใสทางความหมายของคำ พบว่าทั้งวงศัพท์และตัวบทมีความยากง่ายที่แตกต่างกันจริงในระหว่างช่วงชั้น ส่วนการขยายขอบเขตความหมายและหน้าที่พบว่าคำศัพท์ที่มีความถี่ในการปรากฏสูงนั้นมีความหมายและหน้าที่คล้ายคลึงกันทุกช่วงชั้น แสดงว่าความหมายรวมถึงหน้าที่แบบต่าง ๆ ของคำศัพท์เหล่านี้ถูกสอนไว้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นต้นแล้ว ผลการศึกษาการเปรียบเทียบในมิติหลักสูตรพบว่า แต่ละหลักสูตรมีจำนวนคำและจำนวนรูปศัพท์ใกล้เคียงกัน รูปศัพท์ที่เกิดร่วมกันในแต่ละหลักสูตรเกินกว่าร้อยละ 90 จริง และไม่พบว่ามีการขยายขอบเขตทางความหมายและหน้าที่ นั่นคือแม้เวลาจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบและวิธีการใช้คำต่าง ๆ ยังเหมือนเดิม