Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาโมเดลการให้อภัยโดยนัยและการให้อภัยโดยชัดแจ้ง 2) ศึกษาอิทธิพลของการเห็นคุณค่าแห่งตนโดยนัย และการเห็นคุณค่าแห่งตนโดยชัดแจ้ง ต่อการให้อภัยโดยนัยและการให้อภัยโดยชัดแจ้ง โดยมีอคติโดยนัย และอคติโดยชัดแจ้งเป็นตัวแปรส่งผ่าน 3) เพื่อเปรียบเทียบโมเดลการให้อภัยโดยนัยและการให้อภัยโดยชัดแจ้งภายใต้สภาวะการคุกคามที่มาจากบุคคลภายในกลุ่มเดียวกันและบุคคลภายนอกกลุ่ม ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน กลุ่มสหสถาบัน ชุดที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในเงื่อนไขการถูกคุกคามจากบุคคลภายในกลุ่มเดียวกัน และจากบุคคลภายนอกกลุ่ม คือ นิสิตมหาวิทยาลัย จำนวน 720 คน ซึ่งโมเดลที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นประกอบด้วยตัวแปรแฝงจำนวน 6 ตัว ได้แก่ การเห็นคุณค่าแห่งตนโดยนัย การเห็นคุณค่าแห่งตนโดยชัดแจ้ง อคติโดยนัย อคติโดยขัดแจ้ง การให้อภัยโดยนัย และการให้อภัยโดยชัดแจ้ง เก็บข้อมูลโดยใช้เครื่องมือวัดที่มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง .77-.90 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างด้วยโปรแกรม LISREL 8.72 และการวิเคราะห์ทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยที่สำคัญ 1) การเห็นคุณค่าแห่งตนโดยนัยและโดยชัดแจ้งมีความสัมพันธ์ทางลบต่ออคติโดยนัยและโดยชัดแจ้ง แต่มีความสัมพันธ์ทางบวกต่อการให้อภัยโดยนัยและโดยชัดแจ้ง ส่วนอคติโดยนัยและโดยชัดแจ้งมีความสัมพันธ์ทางลบต่อการให้อภัยโดยนัยและโดยชัดแจ้ง 2) โมเดลอิทธิพลของการให้อภัยโดยนัยและโดยชัดแจ้งที่พัฒนาขึ้น ทั้งเงื่อนไขการถูกคุกคามจากบุคคลภายในกลุ่ม และภายนอกกลุ่ม มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยตัวแปรอิสระในโมเดลอธิบายการให้อภัยโดยนัยและโดยชัดแจ้งในกลุ่มการถูกคุกคามจากบุคคลภายในกลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 85 และ 54 ตามลำดับ (X2 = 31.71, df = 23, p = 0.11, GFI = .99, AGFI = .98, RMSEA = .02) ตัวแปรอิสระในโมเดลอธิบายการให้อภัยทั้งสองรูปแบบในกลุ่มการถูกคุกคามจากบุคคลภายนอกกลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 66 และ 90 ตามลำดับ (X2 = 28.96, df = 19, p = 0.07, GFI = .99, AGFI = .98, RMSEA = .03) 3) โมเดลสมมติฐานการวิจัยของกลุ่มเงื่อนไขการถูกคุกคามทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแปรเปลี่ยนในรูปแบบของโมเดลแต่มีความแปรเปลี่ยนของค่าพารามิเตอร์เมทริกซ์อิทธิพลเชิงสาเหตุระหว่างตัวแปรภายในแฝง (BE)