Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวรรณกรรมและพิธีกรรมที่ชาวไทลื้อในหมู่บ้านร่มโพธิ์ทอง ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ใช้บอกอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในฐานะคนพลัดถิ่นในบริบทข้ามพรมแดน โดยเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่วิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 ชาวไทลื้อพลัดถิ่นอพยพมาจากเมืองต่างๆ ในเขตปกครองของเมืองยองในอดีตซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉานตะวันออก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ตำบลท่าก๊อเป็นเวลาประมาณ 50 ปีมาแล้วเพราะหนีภัยสงครามอันเกิดจากการปฏิวัติการปกครองและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา ผลการวิจัยพบว่า ชาวไทลื้อพลัดถิ่นนำวรรณกรรมมาจากมาตุภูมิ 5 ประเภท ได้แก่ วรรณกรรมพุทธศาสนา ตำราประกอบพิธีกรรม ตำนานและบันทึกเชิงประวัติศาสตร์ ตำรากฎหมาย และ ตำรายา วรรณกรรมที่มีบทบาทในการใช้ บ่งบอกรากเหง้า ถิ่นกำเนิด ความทรงจำร่วมและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทลื้อคือ ตำนานและบันทึกเชิงประวัติศาสตร์และตำรากฏหมาย วรรณกรรมที่มีบทบาทต่อการสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมคือตำราประกอบพิธีกรรม ส่วนตำรายาไม่มีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวไทลื้อในบริบทพลัดถิ่น นอกจากนี้ เมื่อชาวไทลื้อเข้ามาอาศัยร่วมกับชาวไทยยวนในพื้นที่ก็ได้รับเอาวรรณกรรมพุทธศาสนาของชาวไทยยวนเฉพาะที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตนมาใช้ด้วย ในบริบทประเทศไทย ชาวไทลื้อพลัดถิ่นยังสืบทอดพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อและวิถีปฏิบัติของตนเท่าที่จะปฏิบัติได้ พิธีกรรมเกือบทั้งหมดได้ใช้ตัวบทจากวรรณกรรณที่ชาวไทลื้อพลัดถิ่นนำมาด้วย ได้แก่ พิธีเลี้ยงเมือง พิธีขึ้นเฮินใหม่ พิธีทานมหาปาง พิธีทานธรรมค้ำชาตา พิธีทานธรรมมหาวิบาก พิธีบูชาข้าวหลีกเคราะห์ พิธีสืบชะตา พิธีทานข้าวเก้ากอง พิธีทานข้าวพระเมืองไชย พิธีทานข้าวพระเมืองแก้ว และพิธีทานผ้าสังฆา พร้อมกันนั้นก็ประกอบพิธีตามรอบปฏิทินตามความเชื่อทางพุทธศาสนาร่วมกับชาวไทยยวน ได้แก่ พิธีปอยสังขาร พิธีทานธรรมเข้าวัสสา พิธีเปตพลี และพิธีทานก๋วยสลาก นอกจากนี้ยังร่วมพิธีปอยวันเกิดครูบาบุญชุ่มพร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทกลุ่มอื่นทั้งในประเทศไทยและเมียนมา ท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์ พุทธศาสนาคือพื้นที่สำคัญในการเชื่อมโยงชาวไทลื้อพลัดถิ่นเข้ากับชาวไทยยวนและกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตของการปฏิสัมพันธ์ วรรณกรรมและพิธีกรรมของชาวไทลื้อพลัดถิ่นจึงถือได้ว่าเป็นกลไกทางวัฒนธรรมในการแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของชาวไทลื้อ ซึ่งในบริบทข้ามพรมแดน ชาวไทลื้อได้แสดงอัตลักษณ์ 4 ประการผ่านวรรณกรรมและพิธีกรรม ได้แก่ ชาวไทลื้อเป็นผู้มีรากเหง้าและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ชาวไทลื้อเป็นผู้มีวัฒนธรรมเข้มแข็ง ชาวไทลื้อเป็นผู้เคร่งครัดศรัทธาในพุทธศาสนา และชาวไทลื้อเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวไทยยวนและส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย