Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายในไพรัชนิยายไทยระหว่าง พ.ศ. 2484-2489 ได้แก่ นวนิยายชุดปักกิ่งนครแห่งความหลัง (2484, 2485, 2489) ของสด กูรมะโรหิต ตระเวนมะนิลา (2486) ของวิตต์ สุทธเสถียร ชัยชนะของคนแพ้ (2486) และ ไม่มีข่าวจากโตเกียว (2488) ของเสนีย์ เสาวพงศ์ โดยศึกษาบริบททางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาย จากการศึกษาพบว่าตัวละครชายในตัวบทคัดสรรนำเรื่องเล่าการเดินทางไปต่างประเทศมาใช้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาย เนื่องจากประเทศไทยมีข้อจำกัดหรือข้อห้ามที่ทำให้ตัวละครชายไม่อาจแสดงความเป็นชายได้ การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายผ่านสถานที่ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร รสนิยมการใช้ชีวิต และการบริโภควัฒนธรรมในต่างแดน เพื่อนำเสนอคุณสมบัติของความเป็นชาย อาทิ ความรู้ความสามารถ ความเข้มแข็งอดทน และบทบาททางเพศ นอกจากนี้ การเติบโตของชนชั้นกลางช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และบริบทของสงครามโลกครั้งที่สองส่งผลให้การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายผูกโยงกับอุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง อาทิ แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ความสามารถส่วนบุคคล ตลอดจนอุดมการณ์ชาตินิยม ทั้งนี้ แม้ว่าอัตลักษณ์ความเป็นชายที่ประกอบสร้างขึ้นในไพรัชนิยายไทยที่ศึกษาจะมีความเปลี่ยนแปลงในมิติทางชนชั้นจากในอดีต แต่ในท้ายที่สุดความเป็นชายยังคงสืบเนื่องลักษณะของอำนาจ การครอบงำ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายมิได้เกิดขึ้นโดยเสร็จสมบูรณ์ตายตัว แต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและผลิตซ้ำเพื่อรักษาสถานะความเป็นชายเอาไว้ โดยนัยหนึ่งการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชายจึงเผยให้เห็นในด้านความวิตกกังวลและภาวะไม่มั่นคงในความเป็นชายของตัวละครชายด้วย