Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมตำนานพระเจ้าห้าพระองค์สำนวนต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทยและมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาอนุภาค แบบเรื่อง และโครงสร้างของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ รวมถึงวิเคราะห์บทบาทของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ที่มีในสังคมไทย ผู้วิจัยรวบรวมตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ได้ 33 สำนวนจากภาคต่างๆในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่า ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ทั้ง 33 สำนวนสามารถจัดได้เป็น 3 แบบเรื่อง คือ แบบเรื่องกาเผือก กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตรมะ และพระศรีอาริยเมตไตรย ที่มีมารดาคนเดียวกันคือแม่กาเผือก ก่อนที่จะมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัป แบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ กล่าวถึงรายละเอียดประวัติของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์แยกตามพระนาม และแบบเรื่องกาเผือก-พระเจ้าห้าพระองค์ ที่เป็นการนำแบบเรื่องกาเผือกและแบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์มากล่าวรวมกัน โดยแบบเรื่องกาเผือกมี 19 สำนวน ส่วนแบบเรื่องพระเจ้าห้าพระองค์ มี 10 สำนวนและมี 4 สำนวนที่เป็นแบบเรื่องกาเผือก-พระเจ้าห้าพระองค์ ในระดับอนุภาค พบว่าในตำนานแต่ละสำนวนมีรายละเอียดในอนุภาคที่แตกต่างกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะ การคัดลอก และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ส่วนในระดับโครงสร้าง พบว่าตำนานพระเจ้าห้าพระองค์มีการเรียงลำดับพฤติกรรมบนโครงสร้างหลักอันเดียวกันตามแต่ละแบบเรื่องบทบาทของตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ในสังคมไทยพบว่ามี 4 ด้านใหญ่ๆ คือ บทบาททางด้านประเพณีพิธีกรรม คือใช้ในการอธิบายที่มาของ ประเพณียี่เป็ง ประเพณีลอยกระทง ประเพณีไหลเรือไฟ ประเพณีไต้ประทีป และประเพณีทานตุง,บทบาททางด้านไสยศาสตร์ มีการใช้คาถาพระเจ้าห้าพระองค์เป็นคาถาสำคัญในการปลุกเสกและผูกเป็นคาถาอื่นๆหรือยันต์ต่างๆรวมถึงมีอิทธิพลต่อการสร้างเครื่องรางของขลัง ทั้งพระเครื่อง ตะกรุด, บทบาททางด้านศิลปกรรมซึ่งพบว่าทั้งจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธรูป และสถาปัตยกรรมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีคติการสร้างเกี่ยวเนื่องกับตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ และบทบาททางด้านการเมืองการปกครองในอดีตมีการอ้างตัวเป็นพระศรีอาริย์ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ