Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างไวยากรณ์และการใช้โวหารภาพพจน์ในภาษิต-คำพังเพยจีนและไทย ตลอดจนศึกษาแนวคิดเรื่องคุณธรรมที่ปรากฏในภาษิต-คำพังเพยจีนและไทย อันประกอบด้วยคุณธรรม ๕ ประการ คือ ความเมตตา ความจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ ความกตัญญูกตเวที การให้อภัย และความซื่อสัตย์สุจริต ผลการวิจัยพบว่าภาษิต-คำพังเพยจีนและไทยมีโครงสร้างไวยากรณ์ ๓ ระดับ คือ วลี ประโยคความเดียว และประโยคความรวมหรือความซ้อน ซึ่งโครงสร้างที่พบมากที่สุดในทั้งสองภาษาคือ ประโยคความรวมหรือความซ้อน ในด้านการใช้โวหารภาพพจน์ พบว่าภาษิต-คำพังเพยจีนและไทยต่างก็มีการใช้โวหารภาพพจน์ ๕ ประเภทได้แก่ การใช้ความเปรียบเทียบ นามนัย อธิพจน์ บุคลาธิษฐาน และปฏิพจน์ ซึ่งโวหารที่พบมากที่สุดในทั้งสองภาษา คือการใช้ความเปรียบ การวิจัยครั้งนี้พบว่าภาษิต-คำพังเพยจีนและไทยต่างก็สะท้อนแนวคิดเรื่องคุณธรรมทั้ง ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น แต่ก็มีความแตกต่างบางประการ เช่น แนวคิดเรื่องความกตัญญูกตเวทีที่ปรากฏในภาษิต-คำพังเพยจีนสะท้อนให้เห็นว่าบุตรควรแสดงความกตัญญูต่อบุพการีในรูปแบบของการกระทำที่เป็นรูปธรรม เช่น การรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือการชดใช้หนี้สินแทนบุพการี เป็นต้น แต่กลับไม่พบแนวคิดเช่นนี้ในภาษิต-คำพังเพยไทย ที่ส่วนใหญ่จะสะท้อนแนวคิดความกตัญญูกตเวทีในลักษณะที่เป็นนามธรรม เช่นการปลูกฝังให้บุตรสำนึกบุญคุณของบุพการี เป็นต้น นอกจากนี้แนวคิดเรื่องคุณธรรมที่ปรากฏในภาษิต-คำพังเพยจีนและไทย ยังสะท้อนให้เห็นถึงลัทธิความเชื่อและศาสนาของชนชาติจีนและไทยอีกด้วย กล่าวคือ ชาวจีนได้รับอิทธิพลเรื่องคุณธรรมจากแนวคิดของขงจื่อเป็นหลัก ส่วนชาวไทยได้รับอิทธิพลเรื่องคุณธรรมจากหลักธรรมทางพุทธศาสนา ดังนั้นการศึกษาแนวคิดเรื่องคุณธรรมที่ปรากฏในภาษิต-คำพังเพยจีนและไทย จึงช่วยสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมของทั้งสองชนชาติได้ดียิ่งขึ้น