Abstract:
ผกาวดี อุตตโมทย์ เป็นนักแปลที่มีชื่อเสียงและได้ผลิตผลงานแปลวรรณกรรมเยาวชนไว้มากมายตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาประวัติและแนวทางการแปลวรรณกรรมเยาวชนของผกาวดี อุตตโมทย์ รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกแนวทางการแปลที่แตกต่างกัน โดยใช้ทฤษฎีด้านการแปลของคาทารินา ไรส์ อองเดร เลอเฟอแวร์ และเยอเตอะ คลิงแบร์ย รวมทั้งทฤษฎีเกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชนของคาร์ล เอ็ม. โทมลินสัน และ แครัล ลีนช์-บราวน์ เป็นกรอบในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ผกาวดี อุตตโมทย์ใช้แนวทางการแปลวรรณกรรมเยาวชน 2 แนวทาง คือ การแปลแนวเรียบเรียงซึ่งปรากฏในงานแปลวรรณกรรมเยาวชนที่แปลก่อน พ.ศ. 2540 และการแปลแนวรักษาต้นฉบับซึ่งปรากฏในงานแปลวรรณกรรมเยาวชนหลัง พ.ศ. 2540 ทั้งนี้ การเลือกแนวทางการแปลที่แตกต่างกันของผกาวดี อุตตโมทย์เป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมหลายประการ ปัจจัยหลักในด้านผู้อุปถัมภ์และขนบทางวรรณศิลป์ คือ นโยบายและแนวทางการแปลของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจาก พ.ศ. 2540 และขนบทางวรรณศิลป์ของนักแปลอาวุโสและนักแปลร่วมสมัยกับผกาวดี อุตตโมทย์ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานแปลของผกาวดี อุตตโมทย์ในยุคแรก รวมทั้งมีปัจจัยทางคตินิยมเป็นปัจจัยเสริม ในที่นี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ร่วมกับเทคโนโลยีการสื่อสารและความรู้ภาษาต่างประเทศของผู้อ่านบทแปลอนึ่ง ผลการวิจัยมีบางส่วนไม่เป็นตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ พบว่า ผกาวดี อุตตโมทย์ใช้แนวทางการแปลวรรณกรรมเยาวชน 2 แนวทาง ได้แก่ การแปลแนวรักษาต้นฉบับและการแปลแนวเรียบเรียงตรงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกแนวทางการแปลของผกาวดี อุตตโมทย์ มีเพียงปัจจัยเดียว คือ ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม อันได้แก่ ผู้อุปถัมภ์ ขนบทางวรรณศิลป์ และคตินิยม โดยที่ประเภทของวรรณกรรมเยาวชน และกลุ่มผู้อ่าน ไม่มีผลต่อการเลือกแนวทางการแปลของผกาวดี อุตตโมทย์แต่อย่างใด