Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ก่อนและหลังการผ่าตัดปลูกกระดูกรองรับฟันโดยใช้ดัชนี Child-OIDP และเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากที่เกิดจากการมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่กับปัญหาอื่นในช่องปาก วัสดุและวิธีการ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีอายุในช่วง 9 – 12 ปี ที่มาเข้ารับการผ่าตัดปลูกกระดูกรองรับฟันที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จำนวน 21 คน มีอายุเฉลี่ย 10.38 ± 0.92 ปี การเก็บข้อมูลทำโดยใช้ดัชนี Child-OIDP ทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ในช่วงก่อนผ่าตัดและ 3 เดือนหลังผ่าตัด ผลการศึกษา ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มีคะแนนรวม Child-OIDP และคะแนนปัญหาแบบเจาะจงสภาวะช่องปากที่เป็นสาเหตุ (Condition-Specific Child-OIDP score: CS-COIDP score) ที่เกิดจากปากแหว่งเพดานโหว่ลดลงจากก่อนผ่าตัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p = .003 และพบว่าช่วงก่อนผ่าตัดมีคะแนน CS-COIDP ที่เกิดจากปากแหว่งเพดานโหว่สูงกว่าคะแนน CS-COIDP ที่เกิดจากปัญหาอื่นในช่องปากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p = .009 สรุป การผ่าตัดปลูกกระดูกรองรับฟันสามารถช่วยทำให้คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ดีขึ้น โดยเฉพาะในหัวข้อการรับประทานอาหาร และการพูด