Abstract:
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นเมื่อมีการลดต่ำลงของความหนาแน่นเซลล์และ/หรือปริมาณของรงควัตถุที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงของซูแซนแทลลี ซึ่งเป็นผู้อาศัยแบบพึ่งพาในเนื้อเยื่อของปะการัง โดยมีสาเหตุจากสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นและความเค็มลดต่ำลง เพื่อให้ทราบบทบาทความสำคัญของปัจจัยดังกล่าวจึงได้ทำการศึกษาความทนทานต่ออุณหภูมิและความเค็มในซูแซนแทลลี ที่แยกจากปะการังดอกกะหล่ำ Pocillopora damicornis โดยทำการแยกเลี้ยงเซลล์ซูแซนแทลลีแบบปลอดเชื้อ ที่ 3 ระดับอุณหภูมิ ได้แก่ 25 (ควบคุม), 27 และ 33 องศาเซลเซียส โดยในแต่ละระดับอุณหภูมิประกอบด้วยชุดการทดลอง 5 ระดับความเค็ม ได้แก่ 10, 15, 25, 28 (ควบคุม) และ 33 พีเอสยู ทำการสุ่มนับเซลล์ทุก 2 วัน เป็นเวลา 14 วัน และคำนวณอัตราการเติบโตจำเพาะ พบว่าอัตราการเติบโตจำเพาะของซูแซนแทลลีมีค่าลดลงที่อุณหภูมิสูงและความเค็มต่ำ โดยที่อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส อัตราการเติบโตของซูแซนแทลลีลดลงในทุกระดับความเค็ม ในขณะที่อุณหภูมิ 25 และ 27 องศาเซลเซียส ซูแซนแทลลีจะมีอัตราการเติบโตลดลงที่ความเค็มต่ำที่ 10 และ 15 พีเอสยู เท่านั้น จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิสูงและความเค็มต่ำส่งผลต่อการเติบโตของซูแซนแทลลี ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือทั้งสองปัจจัยร่วมกัน