Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์กระบวนการกำหนดนโยบายเอทานอลของประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่ผลักดันในการกำหนดนโยบายเอทานอลและปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายเอทานอล โดยการศึกษาเชิงเปรียบเทียบกับนโยบาย เอทานอลของประเทศบราซิลที่ประสบความสำเร็จในการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงเกินกว่า 50% ของน้ำมันเบนซินที่ใช้ทั้งหมดภายในประเทศทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียม และเป็นผู้นำโลกในการส่งออกเอทานอลสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ อย่างไรก็ตามนโยบายเอทานอลประสบความล้มเหลวเมื่อราคาน้ำมันปิโตรเลียมมีราคาถูกลง จากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการการผลิตรถยนต์ประเภท Flexible Fuel Vehicle(FFV) ที่ใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซินและเอทานอล ทำให้ประเทศบราซิลประสบความสำเร็จทางด้านนโยบายเอทานอลอีกครั้งหนึ่ง จากผลการวิเคราะห์กระบวนการกำหนดนโยบายเอทานอลของประเทศบราซิลและประเทศไทย พบว่าเป็นผลผลิตนโยบายที่ได้จากกระบวนการทางการเมือง มีปัจจัยนำเข้า คือ ปัญหาของแต่ละประเทศหรือเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ผลักดันในการกำหนดนโยบายเอทานอล และผ่านกระบวนการนำออกได้เป็นผลผลิตนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงของรัฐในการเพิ่มปริมาณการผลิตและการใช้เอทานอล สำหรับประเทศบราซิลจะรวมถึงการสนับสนุนการวิจัยอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอล การปลูกอ้อย และรถยนต์ ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีการสนับสนุนการวิจัยดังกล่าว ประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมในปริมาณมาก เนื่องจากมีปริมาณการใช้พลังงานเอทานอลเพียง 4.82% ของเบนซินที่ใช้ทั้งหมด เกษตรกรยังคงขาดทุนเนื่องจากราคาพืชอ้อยตกต่ำ รวมถึงปริมาณเอทานอลที่ผลิตได้ยังมีไม่เพียงพอที่จะส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ