Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์กลวิธีการดัดแปลงวรรณกรรมสามก๊กเป็นการ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์น และวิเคราะห์กลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในการ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์น ผลการศึกษาสรุปได้ว่าการ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์นมีที่มาจากสามก๊กฉบับแปลใหม่ของวรรณไว พัธโนทัย มากที่สุด รองลงมาคือ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และละครโทรทัศน์ชุด "สามก๊ก" ตามลำดับ ในการดัดแปลงวรรณกรรมสามก๊กและละครโทรทัศน์ชุด "สามก๊ก" ให้เป็นการ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์น พบว่ามีการดัดแปลงองค์ประกอบต่างๆ 4 ประการ ได้แก่ การดัดแปลงเนื้อหา ตัวละคร บทสนทนา และฉาก การดัดแปลงองค์ประกอบต่างๆ ของวรรณกรรมสามก๊ก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา ตัวละคร บทสนทนา และฉากส่วนใหญ่ดัดแปลงมาจากสามก๊กฉบับแปลใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดเจนว่าผู้เขียนการ์ตูนคงชื่อตัวละคร และบทสนทนาบางส่วนตามสามก๊กฉบับแปลใหม่ แต่ก็มีเนื้อหาบางส่วน และชื่อตัวละครบางชื่อที่ใช้ตามสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นอกจากนี้ ผู้วิจัยพบว่ามีการเพิ่มเนื้อหา และบทสนทนาที่มาจากละครโทรทัศน์ชุด "สามก๊ก" นอกเหนือจากนี้ยังมีการเพิ่มเนื้อหา ตัวละคร บทสนทนาและฉากที่มาจากจินตนาการของผู้เขียนการ์ตูน และมีส่วนที่ผู้เขียนการ์ตูนดัดแปลงให้มีความร่วมสมัย แม้ว่าการ์ตูนสามก๊กฉบับนี้จะมีที่มาจากเรื่องสามก๊กหลายสำนวน แต่ก็มีความกลมกลืน มิได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด ในการดัดแปลงเนื้อหา ตัวละคร บทสนทนา และฉากจากวรรณกรรมสามก๊ก และจากละครโทรทัศน์ชุด "สามก๊ก" ให้เป็นการ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์น
ผู้วิจัยพบว่าผู้แต่งใช้กลวิธีการดัดแปลงที่มีทั้งการตัดออก การเพิ่มเข้า การสลับตำแหน่ง และการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางส่วน กลวิธีการดัดแปลงทั้ง 4 วิธีดังกล่าวส่งผลให้การ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์นมีความร่วมสมัย มีเนื้อหากะทัดรัด ดำเนินเรื่องได้เร็ว มีตัวละครเท่าที่จำเป็น ใช้ภาษากระชับ เข้าใจง่ายเหมาะแก่การนำเสนอในรูปแบบคอมิกสตริป และบางครั้งยังสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้อ่านอีกด้วย ผู้วิจัยพบว่าผู้เขียนการ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์นมีกลวิธีการสร้างอารมณ์ขัน 3 วิธี ได้แก่ กลวิธีการสร้างอารมณ์ขันด้วยเนื้อหา โดยการนำเรื่องของสังคมปัจจุบันแทรกเข้าไปในเรื่องสามก๊ก การเพิ่มตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในเรื่องสามก๊ก การเพิ่มฉากสมัยปัจจุบัน การเบี่ยงเบนพฤติกรรมของตัวละคร และการเพิ่มน้ำเสียงของผู้เขียนการ์ตูน นอกจากนี้ยังมีกลวิธีการสร้างอารมณ์ขันด้วยภาษา ด้วยภาพ ทำให้การ์ตูนสามก๊กฉบับบรรลือสาส์นอุดมไปด้วยอารมณ์ขัน