Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบความหมายของคำในภาษาไทยของบุคคล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กที่พิการด้านการมองเห็น กลุ่มเด็กที่พิการด้านการได้ยิน และกลุ่มเด็กปรกติโดยใช้การทดลอง 3 แบบ การทดลองที่หนึ่ง คือ การทดลองการเชื่อมโยงคำ ในการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่พิการด้านการได้ยินและเด็กปรกติซึ่งมีความสามารถด้านการได้ยินจะถูกกระตุ้นด้วยการเห็นคำ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่พิการด้านการมองเห็นและเด็กปรกติซึ่งมีความสามารถในการมองเห็นจะถูกกระตุ้นด้วยการได้ยินเสียงคำ ในการทดลองผู้วิจัยกำหนดให้กลุ่มตัวอย่างระบุคำที่มีความสัมพันธ์ทางความหมายกับคำที่นำไปกระตุ้น (คำนาม 30 คำ, คำกริยา 30 คำ และคำกริยาคุณศัพท์ 30 คำ) โดยกำกับเวลาในการแสดงคำบนจอคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมดีเอ็มดีเอ็กซ์ ผลการทดลองพบว่าการเชื่อมโยงทางความหมายระหว่างคำภายในคลังคำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การเชื่อมโยงแบบอรรถศาสตร์คำศัพท์ (lexical semantics) และการเชื่อมโยงแบบอรรถศาสตร์บริบท (contextual semantics) และพบข้อสรุปว่าระบบความหมายของคำในภาษาไทยของผู้พิการด้านการมองเห็นมีแนวโน้มเชื่อมโยงคำด้วยรูปแบบที่เป็นแบบอรรถศาสตร์คำศัพท์เช่นเดียวกับเด็กปรกติ ส่วนระบบความหมายของคำในภาษาไทยของผู้พิการด้านการได้ยินมีแนวโน้มเชื่อมโยงคำด้วยรูปแบบที่เป็นแบบอรรถศาสตร์บริบท การทดลองที่สอง การทดลองด้วยการนิยามคำเพื่อพิสูจน์ว่ากลุ่มตัวอย่างนิยามคำโดยอาศัยความรู้แบบอรรถศาสตร์คำศัพท์ หรือ ความรู้แบบอรรถศาสตร์บริบท โดยใช้เกณฑ์การจำแนกนิยามของ ISO/R 1087 ในการทดลองผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างนิยามคำนาม 30 คำ คำกริยา 30 คำ ผลการทดลองพบว่า เด็กที่พิการด้านการมองเห็นมีแนวโน้มนิยามคำโดยใช้ความรู้แบบอรรถศาสตร์คำศัพท์เช่นเดียวกับเด็กปกติ ในขณะที่เด็กที่พิการด้านการได้ยินมีแนวโน้มนิยามคำโดยใช้ความรู้แบบอรรถศาสตร์บริบท ผลการทดลองนี้สนับสนุนข้อสรุปที่ได้จากการทดลองแรก การทดลองที่สาม คือ การทดลองการสร้างความเปรียบ เพื่อพิสูจน์ว่าผู้พิการสามารถเชื่อมโยงคำบอกคุณลักษณะกับสรรพสิ่งได้หรือไม่ โดยใช้โครงสร้างทางภาษาที่เป็นความเปรียบแบบอุปมา ประกอบด้วยรูปแบบคือ '(กริยาคุณศัพท์) เหมือน .....' (เช่น ขาว เหมือน กระดาษ) ผลจากการทดลองด้วยแบบทดลองการสร้างความเปรียบพบว่าเด็กที่พิการด้านการมองเห็นสร้างความเปรียบโดยใช้คำกริยาคุณศัพท์ที่อ้างถึงสิ่งที่ต้องรับรู้ด้วยตา เช่น สี หรือ การเคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับเด็กปกติ ในขณะที่เด็กที่พิการด้านการได้ยินเชื่อมโยงคำที่ทำให้เห็นถึงการเข้าใจความหมายแตกต่างออกไปโดยใช้วิธีการเปรียบเทียบคำกริยาคุณศัพท์ว่าเหมือนกับคำกริยาคุณศัพท์อื่น (เช่น ขาว เหมือน ดำ) ข้อสรุปจากการทดลองทั้ง 3 การทดลองทำให้เห็นว่าระบบความหมายของคำในภาษาไทยของผู้พิการด้านการมองเห็นใกล้เคียงกับคนปกติมากกว่าผู้พิการด้านการได้ยิน