Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์นวนิยายของปิยะพร ศักดิ์เกษม โดยศึกษาลักษณะเด่นด้านโครงเรื่อง แนวคิด และตัวละคร ผลการวิจัยพบว่า ด้านโครงเรื่อง ปิยะพร ศักดิ์เกษมเสนอโครงเรื่อง 2 ลักษณะ คือ โครงเรื่องที่มุ่งเน้นการเสนอแนวคิด และโครงเรื่องที่เน้นความซับซ้อนของเหตุการณ์ โดยมีลักษณะเด่นคือ ปัญหาในจิตใจและพฤติกรรมที่มีปัญหาของตัวละครซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในนวนิยายนั้นสืบเนื่องมาจากปัญหาในครอบครัวและการยึดมั่นกับค่านิยมบางประการมากเกินไป ด้านแนวคิด ผู้เขียนเสนอแนวคิดในนวนิยาย 3 แนวคือการขาดความรักความเข้าใจและขาดการเลี้ยงดูที่ถูกต้องในครอบครัวส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาและไม่มีความสุขในชีวิต ค่านิยมบางประการควรยึดมั่นอย่างเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป และมนุษย์มีความซับซ้อนในตัวเอง มนุษย์ทุกคนมีทั้งส่วนดีและส่วนด้วย มนุษย์จึงควรยอมรับและให้อภัยในความบกพร่องหรือความผิดพลาดของผู้อื่น ด้านตัวละคร ปรากฏลักษณะเด่นคือผู้เขียนสร้างตัวละครด้วยการกำหนดปัญหาในจิตใจจากภูมิหลังที่มีปัญหาของตัวละคร โดยผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าภูมิหลังของครอบครัวที่บกพร่องมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของตัวละคร เพราะปัญหาในครอบครัวเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวละครมีปัญหาในจิตใจจนนำไปสู่ความขัดแย้งบกับผู้อื่นดังปรากฏในนวนิยาย 6 เรื่องคือ ตะวันทอแสง บัลลังก์แสงเดือน ดอกไม้ในป่าหนาว ใต้ร่มไม้เลื้อย ทรายสีเพลิง และทางสายธารนอกจากนี้ปัญหาในครอบครัวยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวละครเกิดความคับแค้นใจจนนำไปสู่การทำร้ายผู้อื่นโดยปรากฏในนวนิยาย 3 เรื่องคือ เรือนศิรา ใต้เงาตะวัน และในบ่วงมนตรา และผู้เขียนยังเสนอให้เห็นว่าความรักความสัมพันธ์และความเข้าใจในครอบครัวสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาหรือความคับแค้นใจให้กับตัวละครได้ ดังที่ปรากฏในนวนิยาย 4 เรื่องคือ กิ่งไผ่-ใบรัก บ้านร้อยดอกไม้ ระบำดาว และลับแลลายเมฆ ในนวนิยายทั้ง 13 เรื่องผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ต้องใช้ความคิดทางพุทธศาสนา คือการใช้ความรักความเข้าใจ ความเมตตา การให้อภัย และการปล่อยวางจึงจะทำให้ตัวละครสามารถคลี่คลายความคับแค้นใจและพบกับความสุขได้และผู้ที่ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น สะท้อนให้เห็นว่านวนิยายของปิยะพร ศักดิ์เกษมมีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาและแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี