Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของศาสตราแลบงในฐานะประเภทวรรณกรรม (Genre) วิเคราะห์ศาสตราแลบงในด้านฉันทลักษณ์ รูปแบบ เนื้อหา และขนบวรรณศิลป์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของศาสตราแลบงกับวัฒนธรรมเขมร ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ศาสตราแลบงเป็นวรรณกรรมเขมรประเภทหนึ่งที่มุ่งให้ความบันเทิงควบคู่กับการสั่งสอนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เริ่มแต่งในพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 25 ยุคแรกมีการเผยแพร่โดยการสวดเป็นทำนองและนำมาใช้เป็นตำราเรียนในวัด ต่อมาจึงมีการนำมาชำระจัดพิมพ์เผยแพร่ ศาสนาแลบงจัดแบ่งตามที่มาของเรื่องได้ 2 ประเภท คือ ศาสตราแลบงที่มีที่มาจากวรรณกรรมชาดกและศาสตราแลบงที่มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านและที่มาอื่น กติกาวรรณกรรมของศาสตราแลบง ได้แก่ ศาสตราแลบงเป็นวรรณกรรมพระพุทธศาสนา ซึ่งมีองค์ประกอบที่ได้รับอิทธิพล จากวรรณกรรมชาดก มีการเน้นแนวคิดสำคัญเรื่องกรรม หลักธรรมเรื่องกฎไตรลักษณ์ และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ โครงเรื่องถูกกำหนดในกรอบแนวคิดสำคัญเรื่องกรรม นำเสนอความขัดแย้ง 3 ระดับ ได้แก่ ความขัดแย้งในระดับครอบครัว ระดับสังคม และระดับศีลธรรม มีการกล่าวถึงสุบิน-นิมิต หรือวิถีชีวิตที่ถูกกำหนดล่วงหน้า ตัวละครมีสามประเภทได้แก่ ตัวละครที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์ รวมทั้งมีบทคร่ำครวญที่เกิดจากการพลัดพรากของตัวละคร วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ในศาสตราแลบงประกอบด้วย รูปแบบคำประพันธ์ ได้แก่ บทกากคติ บทพรหมคีติ บทพํโนล บทภุชงค์ลีลา บทบนโทลกาก และบทพากย์ 7-8 ขนบวรรณศิลป์จำแนกเป็นบทชมเมือง บทชมธรรมชาติ ประกอบด้วย บทชมป่า บทชมสัตว์ บทชมโฉม และบทอัศจรรย์ พัฒนาการของศาสตราแลบง แบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคแรกจากศาสตราเทศน์สู่ศาสตราแลบง ยุคที่สองความบันเทิง ควบคู่คติธรรม ยุคที่สามจากชาดกสู่เรื่องประโลมโลก ยุคที่สี่จากวรรณกรรมสำหรับสวดสู่วรรณกรรมสำหรับอ่าน ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของศาสตราแลบง ศาสตราแลบงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมเขมรหลายประเภท ได้แก่ นาฏศิลป์ จิตรกรรม ตำนานท้องถิ่น รวมทั้งสื่อร่วมสมัยประเภทต่างๆ ได้แก่ หนังสือนิทาน การ์ตูน ภาพยนตร์ เพลงสมัยใหม่ และวีซีดีคาราโอเกะ