Abstract:
การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาวิเคราะห์วิวัฒนาการของวัฒนธรรมการกินอาหารไทยที่เปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลของรัฐที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยใช้ทฤษฎีเรื่องรัฐและแนวคิดโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ตามลำดับการศึกษามีขอบเขตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นการศึกษาช่วงที่หนึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงช่วงก่อนการปกครองของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ช่วงที่สองตั้งแต่หลังการปกครองโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่าในช่วงที่หนึ่งบทบาทของรัฐต่อเรื่องวัฒนธรรมอาหารการกินนั้น รัฐไม่ได้ให้ความใส่ใจการกินอยู่ของผู้ใต้ปกครองในด้านโภชนาการ แต่ใช้กลไกอุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังครอบงำความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการกิน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ทางการผลิตของสังคมไทย ที่รัฐมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาไว้ให้มั่นคง ส่วนช่วงที่สอง เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมามีอำนาจได้หันมาใส่ใจในเรื่องการกินอยู่ของผู้ใต้ปกครองเนื่องจากรัฐได้ใช้วัฒนธรรมการกินเป็นเครื่องแสดงความเจริญของรัฐชาติ ที่ต้องการให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ การสร้างสังคมที่เจริญมีวัฒนธรรมการกินอยู่ที่ดี จึงเป็นภาระหน้าที่ใหม่ที่ของรัฐ แต่หลังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยได้เปิดรับระบบทุนนิยมเข้ามา ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ระบบการผลิตจากเดิมที่เป็นแบบ ผลิติเลี้ยงชีพ(Self-Sufficient Economy)เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อตลาด(Market Economy) เป็นการเปิดรับกระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่ผสมผสาน หรือบูรณาการของวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล ขณะเดียวกันก็เกิดแรงสะท้อนกลับจากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์และส่งผลต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นอื่นๆ