Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและพลวัตรมมุมมองต่อความตายในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายของการศึกษา 3 ประการ กล่าวคือ 1) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมาย ความคิด ความรู้สึกเกี่ยวกับความตายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2) เพื่อศึกษารูปแบบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผลต่อการรับรู้และพลวัตรของมุมมองต่อความตายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย 3) เพื่อประเมินการรับรู้มุมมองต่อความตายที่มีผลต่อการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้วิจัยใช้หลักการวิจัย เชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography) เก็บข้อมูลในผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำนวน 6 ราย ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวน 6 ราย แพทย์ และพยาบาลรวมจำนวน 6 ราย โดยการศึกษาประวัติทางการแพทย์ สัมภาษณ์แบบเจาะลึก การฟังอย่างคิดวิเคราะห์ และบันทึกเทป นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ โดยการตีความ เปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย 2) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง แพทย์ และพยาบาล 3) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง แพทย์ และผู้ป่วย 4) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พยาบาล และผู้ป่วย 5) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง แพทย์ และญาติผู้ป่วย 6) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พยาบาลและญาติผู้ป่วย 7) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย 8) ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ป่วยและผู้ป่วย ปฏิสัมพันธ์มีผลต่อมุมมองต่อความตายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมุมมองเกี่ยวกับความตายของผู้ป่วยแต่ละบุคคลจะถูกสั่งสมมาตามระบบวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ เมื่อเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรทางสุขภาพที่เหมาะสมสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองของความตายและสามารถเผชิญกับความตายได้ โดยสรุปแล้วการทำความเข้าใจในรูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางสุขภาพ สามารถทำให้เข้าความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วยระยะสุดท้าย และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ครบถ้วน