Abstract:
การศึกษาเชิงระบาดวิทยาครั้งนี้เพื่อทดสอบสมมติฐาน ความสัมพันธ์ของความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบที่มีต่อค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่ามาตรฐาน ในพนักงานผู้สูงอายุของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 2,278 คน (ช่วงอายุ 49-72 ปี) ที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยการตายในประชากรไทย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มตัวอย่างได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และตรวจสภาวะปริทันต์ โดยการสุ่มตรวจ 2 ส่วนของช่องปาก ประเมินสภาวะของโรคปริทันต์อักเสบจากร้อยละของคราบจุลินทรีย์ ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ระดับการยึดเกาะของอวัยวะปริทันต์ และจัดกลุ่มความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบตามการกระจายและความรุนแรงของความลึกร่องลึกปริทันต์ สำหรับค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่ามาตรฐาน (>126 มก./ดล.) จัดแบ่งกลุ่มตามหลักเกณฑ์ของสหพันธ์โรคเบาหวานแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหารและข้อมูลทางการแพทย์อื่น ๆ ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 81.7 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นโรคปริทันต์อักเสบ และจัดอยู่ในระดับรุนแรงร้อยละ 26.0 ในกลุ่มโรคปริทันต์อักเสบพบว่า มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่ามาตรฐานร้อยละ 18.5 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เป็นโรคปริทันต์อักเสบพบว่า มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่ามาตรฐานร้อยละ 11.0 จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า โรคปริทันต์อักเสบมีความสัมพันธ์กับค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่ามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และมีค่าอัตราเสี่ยงเท่ากับ 1.84 (95%CI=1.29-2.61) โดยเฉพาะในกลุ่มโรคปริทันต์อักเสบรุนแรงพบว่ามีแนวโน้มของร้อยละของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น(p<0.05) และเมื่อควบคุมอิทธิพลจากตัวแปรศึกษาอื่น ๆ พบว่ากลุ่มที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบมีความเสี่ยงต่อการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (OR=1.68, 95%CI=1.07-2.63) จากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า โรคปริทันต์อักเสบมีความสัมพันธ์กับค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่ามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะโรคปริทันต์อักเสบระดับรุนแรง และโรคปริทันต์อักเสบมีแนวโน้มของการเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อค่าระดับน้ำตาลสูงกว่ามาตรฐานหรือโรคเบาหวานในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ควรมีการศึกษาไปข้างหน้าในระยะยาวต่อไป