Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาเพลงของผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยในอีสานตอนใต้ในฐานะวรรณคดีท้องถิ่นประเภทลายลักษณ์ที่สำคัญประเภทหนึ่งของไทย โดยใช้เพลงกันตรึมจำนวน 250 ชุดที่ผลิตตั้งแต่ทศวรรษ 2520 จนถึงพ.ศ. 2554 เป็นข้อมูลในการศึกษา มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา 3 ประการประกอบด้วยการศึกษาพัฒนาการด้านรูปแบบการประพันธ์ เนื้อหาและการใช้ภาษาในเพลงกันตรึม การวิเคราะห์ศึกษาอัตลักษณ์ของผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยในอีสานตอนใต้ที่ปรากฏในเพลงของชนกลุ่มนี้ และการศึกษาการผสมผสานทางวัฒนธรรมในเพลงดังกล่าวโดยพิจารณาประกอบกับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม ในการศึกษาพัฒนาการของเพลงกันตรึม พนว่าเนื้อเพลงกันตรึมโบราณส่วนใหญ่นิยมแต่งด้วยรูปแบบคำประพันธ์เขมรโบราณ มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยรุ่นเก่า และใช้ภาษาเขมรถิ่นไทยเป็นภาษาหลักในการแต่ง ส่วนเพลงกันตรึมประยุกต์แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดใหม่ของเขมรร่วมกับคำประพันธ์ไทย เนื้อหากล่าวถึงวิถีชีวิตของผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยรุ่นใหม่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชนหลายกลุ่มทั้งในประเทศและในโลก และใช้ภาษาหลากหลายผสมกันในการแต่ง เช่น ภาษาเขมรถิ่นไทย ภาษาไทย และภาษาลาวอีสาน เมื่อศึกษาการผสมผสานทางวัฒนธรรมในเพลงกันตรึมพบว่า เพลงกันตรึมโบราณแสดงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมร่วมในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรกับวัฒนธรรมของผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทย ส่งผลให้ยังคงแสดงความเป็นเขมรอย่างเข้มข้น โดยมีปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการผสมผสานดังกล่าวคือความสำนึกอย่างแรงกล้าในความเป็นชาติพันธุ์เขมร ส่วนเพลงกันตรึมประยุกต์แสดงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเขมรกับวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมอื่นๆ ทำให้เพลงมีความเป็นไทยมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการผสมผสานทางวัฒนธรรมคือ อิทธิพลทางการเมืองการปกครองของรัฐไทย อิทธิพลทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในภาคอีสาน และกระแสโลกาภิวัตน์ อัตลักษณ์ของผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยที่พบในเพลงมีทั้งอัตลักษณ์ร่วมของคนทุกรุ่น (เช่น ผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยทุกรุ่นเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด แต่ก็เป็นคอสุราด้วย) อัตลักษณ์ที่มีพลวัตของคนต่างรุ่น (เช่น ผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยรุ่นเก่าเป็นคนเขมร ส่วนผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยรุ่นใหม่เป็นคนไทย) และอัตลักษณ์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ (เช่น ผู้พูดภาษาเขมรถิ่นไทยรุ่นใหม่เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมและอารยธรรมเขมรโบราณในบริบทสังคมไทย)