Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานบุญแซนโฎนตา ศึกษาการสืบทอดและการดำรงอยู่ของงานบุญแซนโฎนตาในพื้นที่ดั้งเดิม ตลอดจนศึกษาแนวคิดการประกอบสร้างประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษของสุรินทร์ ในฐานะประเพณีประดิษฐ์เพื่อตอบสนองบริบทสังคมปัจจุบัน รวมถึงบทบาทของประเพณีประดิษฐ์ที่มีต่อชาวสุรินทร์ ทั้งนี้ผู้วิจัยศึกษาจากเอกสารและเก็บข้อมูลภาคสนาม 2 พื้นที่ ได้แก่ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายเขมร หมู่บ้านปรือเกียน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และงาน “ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้จัดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 ผลการศึกษาพบว่า งานบุญแซนโฎนตาถือกำเนิดจากความเชื่อของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายเขมรที่ว่า ในรอบหนึ่งปีเมื่อถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เทวดาหรือพญายมจะอนุญาตให้วิญญาณบรรพบุรุษได้เดินทางมาเยี่ยมโลกมนุษย์ครั้งหนึ่งเพื่อมารับส่วนบุญที่ลูกหลานทำไปให้ โดยมีพิธีเซ่นไหว้ต้อนรับเข้าบ้านอย่างยิ่งใหญ่ งานบุญแซนโฎนตาในหมู่บ้านปรือเกียนใช้เวลาประกอบกิจกรรมต่าง ๆ รวม 17 วัน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ถึง ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ตลอดงานบุญไม่ได้มีเฉพาะพิธีเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ แต่ยังมีกิจกรรมและพิธีกรรมที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนา และญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิต พบกิจกรรมทั้งสิ้น 9 กิจกรรม ได้แก่ วันเตรียมงาน พิธีโซดดารเบ็ณฑ์ตูจ พิธีกันซ็อง พิธีฉลองซ็อง พิธีแซนโฎนตา พิธีจูนโฎนตา พิธีแห่-โซด-จะกันเจอโฎนตา พิธีโซดดารเบ็ณฑ์ทม และพิธีจูนโฎนตาหลบสรุก ซึ่งทุกกิจกรรมนี้ชาวชุมชนเขมรหมู่บ้านปรือเกียนได้สืบทอดตามรูปแบบดั้งเดิม แต่มีบางส่วนที่ปรับประยุกต์เพื่อ ความเหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ที่เกิดขึ้นใหม่ มีลักษณะการผลิตซ้ำงานบุญประเพณีและนำเสนอใหม่ โดยมีแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบประเพณี 3 ประการ ประการแรก การเป็นพื้นที่อนุรักษ์แบบปรับประยุกต์งานบุญดั้งเดิมของจังหวัด เห็นได้จากการตั้งชื่อเพื่อสื่อความใหม่ภายใต้วิธีคิดแบบเก่า โดยใช้คำว่า “ประเพณี” แทนคำว่า “บุญ” เพื่อทำให้มีฐานะเทียบเท่าเทศกาลทางวัฒนธรรมที่มีทั้งพิธีศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมความรู้ กิจกรรมบันเทิง และมีการสืบทอดพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โดยเลือกเฉพาะ “หัวใจ” ของงานบุญที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ พุทธศาสนา และดวงวิญญาณ ได้แก่ “พิธีจูน แซน โซด จะ” มาปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป ประการที่สอง การเป็นพื้นที่หลอมรวมชาวสุรินทร์ ภาครัฐเล็งเห็นว่าชาวเขมร ส่วย ลาว จีน ในจังหวัด ต่างมีพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษของกลุ่ม และมีพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเป็น บรรพบุรุษร่วมและศูนย์รวมใจ จึงชูจุดร่วม 2 ข้อนี้ ดึงชาวสุรินทร์เข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเพณี และช่วยสลาย “ความเป็นอื่น” ที่ว่า แซนโฎนตาเป็นพิธีเฉพาะกลุ่มเขมรให้หมดไป ประการที่สาม การเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิด การคัดเลือกอัตลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์จากคำขวัญประจำจังหวัดมานำเสนอผ่าน 4 กิจกรรมหลัก คือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ขบวนแห่ รอบเมือง การละเล่นพื้นบ้านและงานมหรสพ และนิทรรศการมีชีวิต ด้านบทบาทของประเพณีที่มีต่อชาวสุรินทร์ในปัจจุบัน พบ 4 ประการ ได้แก่ บทบาทในการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสุรินทร์เป็นหนึ่งเดียว บทบาทในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ร่วมงาน บทบาทในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำเดือนสิบ ของจังหวัดสุรินทร์ และบทบาทในการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ด้วยเหตุนี้ ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษจึงเป็นประเพณีประดิษฐ์ที่เกิดจากการคัดสรรวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มซึ่งภาครัฐและภาคประชาชนเห็นว่ามีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ มาสืบสานแบบสร้างสรรค์ โดยออกแบบให้กลายเป็นประเพณีสาธารณะเพื่อรองรับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัด และรองรับบริบทของการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน