Abstract:
งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการคืนกลับแร่ธาตุสู่รอยผุจำลอง เมื่อทำการเคลือบด้วยวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันที่มีและไม่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ โดยใช้ด้านประชิดของฟันกรามน้อยที่สร้างรอยผุจำลองลึกประมาณ 150 ไมโครเมตร จำนวน 75 ชิ้น สุ่มเข้า 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่รอยผุเคลือบด้วยวัสดุเรซินที่มีเอส-พีอาร์จี (บิวติซีลแลนต์) เคลือบด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ (ฟูจิเซเว่น) เคลือบด้วยวัสดุเรซินที่มีฟลูออไรด์ (เดลตันเอฟเอสพลัส) เคลือบด้วยวัสดุเรซินที่ไม่มีฟลูออไรด์ (เดลตัน) และกลุ่มควบคุมที่รอยผุไม่เคลือบวัสดุใดๆ นำทุกกลุ่มผ่านกระบวนการจำลองสภาวะร้อน-เย็น 500 รอบ และการจำลองสภาวะกรด-ด่าง เป็นเวลา 5 วัน วัดความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยทั้งก่อนและหลังการทดลองด้วยเครื่องไมโครคอมพิวเตตโทโมกราฟี พบว่ารอยผุที่เคลือบด้วยวัสดุทั้งสี่กลุ่มมีค่าความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยกลาสไอโอโนเมอร์มีค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุสูงสุด รองลงมาคือ เรซินที่มีฟลูออไรด์ เรซินที่มีเอส-พีอาร์จี และเรซินที่ไม่มีฟลูออไรด์ ทั้งนี้พบว่ากลาสไอโอโนเมอร์และเรซินที่มีฟลูออไรด์มีค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุที่มากกว่าและมีระดับการคืนกลับแร่ธาตุที่ลึกกว่ากลุ่มเรซินที่ไม่มีฟลูออไรด์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่พบความแตกต่างกันระหว่างสามวัสดุที่มีฟลูออไรด์เป็นองค์ประกอบคือ กลาสไอโอโนเมอร์ เรซินที่มีฟลูออไรด์ และเรซินที่มีเอส-พีอาร์จี ขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยลดลงตลอดความลึกของรอยผุจำลอง แสดงให้เห็นว่าการเคลือบหลุมร่องฟันสามารถยับยั้งการลุกลามและช่วยคืนกลับแร่ธาตุสู่รอยผุจำลองระยะแรกได้ โดยที่ฟลูออไรด์ในวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันมีส่วนช่วยให้เกิดการคืนกลับแร่ธาตุทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพได้มากกว่าชนิดที่ไม่มีฟลูออไรด์