Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์แผนจำนองแบบย้อนกลับซึ่งเป็นการนำที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในสัญญากับทางสถาบันการเงิน เพื่อรับเงินรายงวดมาใช้ ผลิตภัณฑ์นี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการมีอายุยืนในผู้สูงอายุ ความเสี่ยงจากการมีอายุยืนจะทำให้ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ใช้การศึกษาแผนจำนองแบบย้อนกลับจากการพยากรณ์ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย และอัตราดอกเบี้ย ในอนาคตซึ่งในการพยากรณ์ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใช้การสร้างตัวแบบอารีมา โดยได้พิจารณาลักษณะที่อยู่อาศัย 3 ประเภท ได้แก่ บ้านเดี่ยวและที่ดิน ทาวน์เฮ้าส์และที่ดิน และอาคารชุด ส่วนการพยากรณ์อัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตใช้ข้อมูลราคาพันธบัตรที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ถึง มกราคม พ.ศ. 2559 ที่มีอายุคงเหลือ 1 ปี 2 ปี และเพิ่มขึ้นขั้นละ 1 ปีจนถึง 50 ปีด้วยตัวแบบวาซิเซก สำหรับอัตรามรณะที่ใช้ในการศึกษานี้ได้แปลงจากตารางมรณะของตารางบำนาญไทยปี 2552 ซึ่งประกาศใช้โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในปีพ.ศ. 2552 จากการวิจัยพบว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีค่าแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นซึ่งสามารถพยากรณ์ด้วยตัวแบบอารีมา โดยดัชนีอาคารชุด ในทุกช่วงเวลามีมูลค่าสูงสุด ตามด้วยราคาทาว์นเฮ้าส์พร้อมที่ดินและราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยสามารถพยากรณ์ด้วยตัวแบบวาซิเซก อัตราดอกเบี้ยจากการพยากรณ์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ถึงพ.ศ. 2566 และลดลงมาถึงปีพ.ศ. 2572และหลังจากปีพ.ศ. 2572 อัตราดอกเบี้ยจะมีการเพิ่มขึ้นและลดลงสลับไปมาทุก ๆ 1 – 3 ปี ผลิตภัณฑ์แผนจำนองแบบย้อนกลับที่พิจารณาแยกตามที่อยู่อาศัย พบว่าจำนวนเงินรายงวดที่ผู้ทำสัญญาได้รับนั้นขึ้นอยู่กับ เพศ และอายุขณะทำสัญญา โดยผลจากงานวิจัยพบว่าจำนวนเงินรายงวดที่ได้รับในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง ทุก ๆ ช่วงอายุ และทุกประเภทที่อยู่อาศัย เนื่องจากเพศหญิงมีอัตรามรณะที่ต่ำกว่าเพศชาย ราคาที่อยู่อาศัยที่ให้จำนวนเงินรายงวดมากที่สุดในทุก ๆ ช่วงอายุ คือ ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุด