Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของความคลั่งไคล้ศิลปิน การเห็นคุณค่าในตนเอง การเผชิญปัญหา และความสุขเชิงอัตวิสัยของแฟนคลับเยาวชน กลุ่มตัวอย่าง เป็นแฟนคลับเยาวชนไทย จำนวน 418 คน ที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี อายุเฉลี่ย 20.97 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 2.30) ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ มาตรวัดความคลั่งไคล้ศิลปิน มาตรวัดการเห็นคุณค่าในตนเอง มาตรวัดการเผชิญปัญหา และ มาตรวัดความสุขเชิงอัตวิสัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) ความคลั่งไคล้ศิลปินรูปแบบการชื่นชอบเพื่อความบันเทิงและสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขเชิงอัตวิสัยของแฟนคลับเยาวชนไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .08, p < .05) การเห็นคุณค่าในตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขเชิงอัตวิสัยของแฟนคลับเยาวชนไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ (r = .77, p < .01) การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา การแสวงหาแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือ และการตั้งสติจัดการกับปัญหาการเผชิญปัญหา มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขเชิงอัตวิสัยของแฟนคลับเยาวชนไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .62, p < .01; r = .19, p < .05; และ r = .28, p < .01 ตามลำดับ) ส่วนการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีปัญหา และแบบจมดิ่งกับอารมณ์ มีความสัมพันธ์ทางลบกับความสุขเชิงอัตวิสัยของแฟนคลับเยาวชนไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.34, p < .01 และ r = -.61, p < .01 ตามลำดับ) 2) การเห็นคุณค่าในตนเอง การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา การแสวงหาแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือ การจมดิ่งกับอารมณ์ สามารถร่วมกันทำนายความสุขเชิงอัตวิสัยของเยาวชนได้ และอธิบายความแปรปรวนของความสุขเชิงอัตวิสัยได้ร้อยละ 67 (p < .05) โดยตัวแปรที่สามารถทำนายความสุขเชิงอัตวิสัยได้มากที่สุดคือ การเห็นคุณค่าในตนเอง (β = .77, p < .001) รองลงมาได้แก่ การเผชิญปัญหาแบบจมดิ่งกับอารมณ์ (β = -.26, p < .001) การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหา (β = .15, p < .001) และ การเผชิญปัญหาแบบแสวงหาแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือ (β = .10, p < .01)