Abstract:
งานวิทยานิพนธ์นี้ได้ทำการศึกษาเรื่องหลักการแปรทำนองจะเข้และซออู้ เพลงทยอยเขมร สามชั้น ของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน ผู้วิจัยตั้งวัตถุประสงค์ไว้ 2 ประการ คือเพื่อศึกษาหลักการทั่วไปสำหรับการแปรทำนองของจะเข้และซออู้ และที่สำคัญเพื่อศึกษาลักษณะเฉพาะในการแปรทำนองจะเข้และซออู้ เพลงทยอยเขมร สามชั้น ของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน ผลการวิจัยพบดังนี้ จาการศึกษาประการแรกหลักการทั่วไปในการแปรทำนองจะเข้ของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อนปรากฏ 13 หลักการ มีลักษณะสำคัญคือ การเพิ่มพยางค์เสียงต่างๆ เข้าไปในทำนองเพลง ส่วนการแปรทำนองของซออู้ ปรากฏ 8 หลักการ มีลักษณะสำคัญคือ ลักษณะทำนองฝากลูกตกไปห้องถัดไป ประการที่สอง ลักษณะเฉพาะการแปรทำนองจะเข้ปรากฏ 4 หลักการ พบมีลักษณะที่โดดเด่นคือ การดีดสายลวดสลับกับสายเอกในลักษณะที่เป็นการย้ำเสียงเดียวกัน ส่วนการแปรทำนองของซออู้ปรากฏ 4 หลักการ มีลักษณะที่โดดเด่นคือ การสีสะบัดสลับกับการสีลักคันชัก ซึ่งหลักการทั่วไปและหลักการเฉพาะที่สำคัญสำหรับการแปรทำนองจะเข้และซออู้อย่างเด่นชัดพบอยู่ในบทเพลงทยอยเขมร สามชั้น ของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อนในครั้งนี้ ปรากฏการแปรทำนองจะเข้และซออู้โดยยึดทำนองหลักในการแปรทำนองของทั้งสองเครื่องโดยขึ้นอยู่กับความสะดวกและความโดดเด่นในการบรรเลงของทั้งสองเครื่อง สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการแปรทำนองจะเข้และซออู้ในเพลงประเภทสองไม้เป็นหลักการที่สามาถนำมาใช้ในการแปรทำนองของเครื่องทั้ง 2 ชิ้นในบทเพลงอื่น ๆ ในประเภทเดียวกันได้เป็นอย่างดี