Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์คือเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ และเพื่อค้นหาแนวคิดในการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ โดยใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบสหสาขาวิชา จากแนวคิดการสร้างสรรค์งานวรรณกรรม พฤติกรรมมนุษย์ สัญวิทยา และศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และสื่อสารสนเทศ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตการณ์ การเข้าร่วมสัมมนา และการใช้เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อศึกษารูปแบบในการสร้างสรรค์งาน ดำเนินการทดลองสร้างสรรค์ผลงาน แก้ไขปรับปรุง นำเสนอผลงานสู่สาธารณชน สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานวิจัยตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ในด้านการสร้างสรรค์การแสดงสามารถจำแนกตามองค์ประกอบของงานการแสดงได้ 8 ประการ คือ 1) บทการแสดง สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยการอิงเรื่องราวจากวรรณกรรม 2) นักแสดง มีความสามารถที่หลากหลาย 3) ลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) เสียง ใช้เสียงดนตรีสดจากเครื่องดนตรีไทยและสากล 5) อุปกรณ์การแสดง สร้างสรรค์ตามแนวคิดสัจนิยมและเชิงสัญลักษณ์ 6) พื้นที่ในการแสดง ใช้พื้นที่บริเวณขั้นบันไดและเสาอาคาร เพื่อเป็นการสลายรูปแบบการจัดแสดงดั้งเดิมที่ต้องใช้พื้นที่ในโรงละครเท่านั้น 7) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีของสีและทิศทางของแสง 8) เครื่องแต่งกาย ใช้แนวคิดเชิงสัญลักษณ์ และแนวคิดเหนือจริง ในการสื่อความคิดให้เป็นรูปธรรม สำหรับแนวคิดที่ได้หลังจากการสร้างสรรค์ผลงาน มี 7 ประเด็น คือ 1) การใช้เค้าโครงเรื่องจากวรรณกรรม 2) การสะท้อนภาพสังคมโดยใช้นาฏยศิลป์ 3) การใช้สัญลักษณ์ในงานนาฏยศิลป์ 4) ความเรียบง่ายในงานนาฏยศิลป์ 5) การคำนึงถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ 6) ความคิดสร้างสรรค์ในงานนาฏยศิลป์ 7) การคำนึงถึงทฤษฎีทางทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏยศิลป์ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังค้นพบเรื่องการสร้างเอกภาพจากการนำวรรณกรรม 4 เรื่อง คือ พระแม่กาลี เทพวีนัส นางจิญจมานวิกา พระเพื่อนพระแพง ซึ่งเป็นงานจากวัฒนธรรมอินเดีย อารยธรรมกรีก พุทธชาดก และวรรณคดีไทย โดยให้นักแสดงแสดงในสถานที่เดียวกันตลอดทั้งเรื่อง นอกจากนี้ยังออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและดนตรีประกอบการแสดง ให้มีเอกภาพเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง