Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบและค้นหาแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์ร่วมสมัย โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัยเชิงสร้างสรรค์และการวิจัยเชิงคุณภาพจากการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านนาฏยศิลป์ ดุรยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปการละคร และมานุษยวิทยา โดยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากสตรีที่ได้รับผลกระทบในสามจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 30 คน ข้อมูลจากเอกสารตำรา สื่อสารสนเทศ การสัมภาษณ์ การสำรวจข้อมูลภาคสนาม การใช้เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน แบบสอบถาม จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทดลองสร้างสรรค์ผลงาน จัดแสดงผลงานต่อสาธารณชน และสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัยครั้งนี้ สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของการแสดงได้ 8 องค์ประกอบของนาฏยศิลป์ ได้แก่ 1) บทการแสดง ใช้โครงเรื่องจริงของสตรีที่สูญเสียสามีเป็นหลัก สามารถแบ่งบทการแสดงออกเป็น 4 องก์ โดยการวิเคราะห์จากผลกระทบที่ได้รับเหตุการณ์ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย 2) นักแสดง มีพื้นฐานทางด้านนาฏยศิลป์ที่แตกต่างกัน และเน้นนักแสดงที่อาศัยอยู่พื้นที่ภาคใต้ 3) ลีลานาฏยศิลป์ ใช้เทคนิคการเต้นแบบผสมผสานทั้งนาฏยศิลป์ร่วมสมัย นาฏยศิลป์ไทย นาฏยศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ การแสดงละคร และการเชิดหนังใหญ่ 4) เสียงและดนตรี เป็นการบรรเลงดนตรีสด ประกอบด้วย วงดนตรีพื้นบ้านโนรา ไวโอลิน เปียโน คาริเน็ต และเสียงบันทึกข่าวและเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง 5) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้หนังตะลุงขนาดใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ความรุนแรง 6) เครื่องแต่งกาย ออกแบบให้มีนัยที่สื่อถึงดินแดนทางใต้ของประเทศไทย 7) สถานที่ในการแสดงและฉาก ใช้แนวคิดความเรียบง่ายในการออกแบบด้วย การใช้เก้าอี้ม้านั่งยาว 8) แสง ใช้แนวคิดทฤษฎีสี และทิศทางของแสงรวมถึงออกแบบให้สอดคล้องกับประเด็นที่นำเสนอ สำหรับแนวคิดที่ได้หลังจากการปฏิบัติการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ร่วมสมัย พบว่ามี 10 แนวคิด ได้แก่ 1) สตรีที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจจากความสูญเสีย 2) การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ในประเด็นทางสังคม 3) สัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 4) สัญญะในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) ศิลปะการละครกับการสร้างสรรค์งานทางด้านนาฏยศิลป์ 6) ศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 7) ความเรียบง่ายในงานนาฏยศิลป์ 8) องค์ประกอบทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ 9) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม 10) การสร้างสรรค์การแสดงเพื่อเยาวชน งานวิจัยในครั้งนี้ เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เล่าเรื่องประเด็นของความรุนแรง และเป็นผลงานสร้างสรรค์จากบทสัมภาษณ์ ซึ่งใช้คำสัมภาษณ์เป็นตัวกำหนดการดำเนินเรื่องรวมถึงวิธีการแสดง โดยนำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ที่สร้างจากมุมมองของผู้วิจัยซึ่งเป็นคนภายนอก แสดงให้กับผู้ชมที่เป็นคนภายนอกพื้นที่ได้รับชม