Abstract:
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมีของสารระเหยจากตำแยแมว ผลของตำแยแมวต่อพฤติกรรม และความเครียดเฉียบพลันของแมวบ้าน การวิจัยประกอบด้วย การทดลองส่วนที่ 1 หาองค์ประกอบทางเคมีจากรากตำแยแมวด้วย Headspace GCMS (HS-GCMS) การทดลองส่วนที่ 2 ศึกษาผลของตำแยแมวต่อพฤติกรรม ใช้แมวพันธุ์ผสมคละเพศ 8 ตัว ได้สิ่งทดสอบคือตำแยแมวแบบสดทั้งต้น นาน 1 ชั่วโมง ทำการสังเกต บันทึกพฤติกรรมและเวลาที่สัตว์ตอบสนองต่อต้นพืช การทดลองส่วนที่ 3 ผลของตำแยแมวต่อความเครียดเฉียบพลัน ดำเนินแผนงานวิจัยแบบเปลี่ยนสลับ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ไม่ได้รับสิ่งทดสอบ กลุ่มที่ 2 ได้รับสิ่งทดสอบคือตำแยแมวแบบสดทั้งต้น เหนี่ยวนำความเครียดด้วยเทคนิคควบคุมสัตว์ทางกายภาพ และบันทึกค่าทางพยาธิวิทยา การตรวจด้วย HS-GCMS พบสารออกฤทธิ์สำคัญ 2 ชนิด คือ isodihydronepetalactone และ isoiridomyrmecin พบแมวแสดงการตอบสนองต่อพืช 3 แบบ คือ ดม เคี้ยว และถูคางและแก้ม ค่าเฉลี่ยของเวลาการดม เคี้ยว ถูคางและแก้ม เท่ากับ 2.13 นาที 5.47 นาที และ 0.55 นาที ตามลำดับ ค่าเฉลี่ยเวลาเคี้ยวนานที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.002) เมื่อเปรียบเทียบกับการดม และถูคางและแก้ม เวลาทั้งหมดที่สัตว์ตอบสนองต่อพืช 8.4 – 26.11 นาที กลุ่มที่ 1 และ 2 ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ระดับกลูโคส คอร์ติซอล และปริมาณเม็ดเลือดขาวรวม นิวโทรฟิล ลิมโฟไซท์ โมโนไซท์ และอีโอซิโนฟิล จึงไม่พบผลต่อความเครียดเฉียบพลันของตำแยแมวต่อแมวบ้านจากการศึกษาครั้งนี้