Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาคุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ของคำกริยาแยกส่วนในภาษาไทย ตลอดจนการจำแนกออกเป็นประเภทที่ต่างกันของคำกริยาโดยผู้วิจัยมีสมมติฐานจากการพิจารณาพฤติกรรมการปรากฏในหน่วยสร้างที่ต่างกันของคำกริยาว่าสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้คำกริยาแยกส่วนสามารถถูกจำแนกออกได้เป็นประเภทคือการสลับปรากฏในหน่วยสร้างต่างๆ ของคำกริยา จากผลการวิจัย พบว่าคำกริยาแสดงเหตุการณ์การแยกส่วนจำนวน 107 คำในภาษาไทยมีพฤติกรรมการสลับปรากฏในหน่วยสร้างต่างๆ โดยแบ่งออกได้เป็น 8 ประเภท การสลับหน่วยสร้างทั้ง 8 ประเภทที่พบสามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) การสลับสกรรมสภาพ ซึ่งประกอบด้วยการสลับการีตกับกระบวนการ การสลับกรรมผู้รับการกระทำกับเป้าหมาย การสลับกรรมวาจก การสลับกระบวนการกับผล การสลับสะท้อนผล การสลับมัชฌิมกรรม 2) การสลับโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสกรรมสภาพในเชิงโครงสร้าง ซึ่งประกอบด้วยการสลับที่มีหน่วยร่วมเหตุการณ์เครื่องมืออยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ ประธานผู้กระทำกับเครื่องมือและการสลับกรรมตรงกับเครื่องมือ เมื่อนำตัวแปรการสลับหน่วยสร้างทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์องค์ประกอบ พบว่าตัวแปรการสลับหน่วยสร้างมีการจำแนกออกเป็น 2 องค์ประกอบหรือ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ การสลับปรากฏของคำกริยาที่ปรากฏในหน่วยสร้างสกรรมเป็นพื้นฐาน และการสลับปรากฏของคำกริยาที่ปรากฏในหน่วยสร้างอกรรมเป็นพื้นฐาน สำหรับสลับปรากฏของคำกริยาที่ปรากฏในหน่วยสร้างสกรรมเป็นพื้นฐาน พบว่าตัวแปรการสลับที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในกลุ่มนี้ได้แก่ การสลับกรรมวาจก การสลับมัชฌิมกรรม การสลับผู้รับการกระทำกับเป้าหมาย การสลับประธานเครื่องมือ และการสลับกรรมตรงเครื่องมือ ส่วนการการสลับปรากฏของคำกริยาที่ปรากฏในหน่วยสร้างอกรรมเป็นพื้นฐาน พบว่าตัวแปรการสลับที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในกลุ่มนี้ได้แก่ การสลับกระบวนการกับผล การสลับสะท้อนผล และการสลับการีตกับกระบวนการ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์การจำแนกประเภทของคำกริยาแยกส่วนออกเป็นประเภทที่ต่างกันตามรูปแบบการสลับปรากฏ พบว่าสามารถจำแนกออกได้เป็นประเภทย่อย 3 ประเภทโดยอิงตามพฤติกรรมทางวากยสัมพันธ์ของคำกริยา ได้แก่ 1) คำกริยาแยกส่วนแสดงเหตุการณ์ที่ปรากฏในหน่วยสร้างสกรรมการีตเป็นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยคำกริยาแยกส่วนที่มีการเน้นจุดสนใจที่การใช้เครื่องมือในการกระทำเหตุการณ์ คำกริยาแยกส่วนที่มีการปรากฏของเครื่องมือในเหตุการณ์แต่มีการเน้นจุดสนใจที่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพ และคำกริยาแยกส่วนที่แสดงเหตุการณ์การแยกส่วนแบบโดยรวม 2) คำกริยาแยกส่วนที่ปรากฏในหน่วยสร้างอกรรมกระบวนการเป็นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยคำกริยาแยกส่วนที่ปรากฏในหน่วยสร้างอกรรมแสดงกระบวนการและสภาพผลที่สามารถแสดงการแยกส่วนโดยไม่ปรากฏผู้กระทำได้ และคำกริยาแยกส่วนที่ปรากฏในหน่วยสร้างอกรรมแสดงเหตุการณ์ทรงสภาพเท่านั้นซึ่งเป็นสภาพที่เกิดจากการกระทำการแยกส่วนโดยผู้กระทำ 3) คำกริยาแยกส่วนสลับการีตกับกระบวนการ ซึ่งประกอบด้วยคำกริยาแยกส่วนสลับการีตกับกระบวนการโดยมีการปรากฏของเครื่องมือและไม่มีการปรากฏของเครื่องมือ