Abstract:
“การลงโทษในพื้นที่จริยธรรม” ของขงจื่อมีจุดมุ่งหมายในการทำให้เกิดการแก้ไขตนเองในผู้กระทำผิด ซึ่งจะนำไปสู่การปกป้องผู้คน เสถียรภาพทางสังคม และบรรทัดฐานทางจริยธรรม และสอดคล้องกับทฤษฎีการลงโทษแบบรักษาและแก้ไขนิสัย (Rehabilitation Theory) ขงจื่อเชื่อว่าการทำผู้กระทำผิดให้ “ตรง” ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ควรสร้างความตระหนักเรื่องการละเมิดบรรทัดฐานทางจริยธรรมและความรับผิดชอบแก่ผู้กระทำผิด การลงโทษมีบทบาทในการประณามการกระทำที่ผิดและกระตุ้นให้ผู้กระทำผิดสำนึกว่าตนได้ละเมิดบรรทัดฐานทางจริยธรรมอย่างไร ในแง่นี้ การลงโทษไม่ได้มุ่งทำให้ผู้ถูกลงโทษหยุดการกระทำผิดเพราะกลัวที่จะถูกลงโทษ โดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความเข้าใจเรื่องบรรทัดฐานทางจริยธรรม ซึ่งสะท้อนชัดเจนในการที่ขงจื่อมักกล่าวสอนบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่ถูกต้องควบคู่กับการลงโทษด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่าบรรทัดฐานที่ถูกต้องคืออะไร ขงจื่อคาดหวังว่าเมื่อเกิดความตระหนักดังกล่าวผู้ถูกลงโทษจะหยุดการกระทำผิด และมุ่งขัดเกลาจริยธรรมของตนเอง ซึ่งก็จะนำไปสู่การบรรลุจุดมุ่งหมายในการปกป้องผู้คน เสถียรภาพทางสังคม และบรรทัดฐานทางจริยธรรมด้วย