Abstract:
การรับประโยชน์และหน่วยสร้างแสดงการรับประโยชน์ได้รับความสนใจและศึกษาในทางภาษาศาสตร์อย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่มีการศึกษาประเด็นดังกล่าวในภาษาไทยโดยละเอียด งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบคุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ของตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ “เพื่อ” และ “ให้” ในภาษาไทย รวมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อคุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ที่แตกต่างกันดังกล่าว ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากคลังข้อมูลภาษาไทยแห่งชาติในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผลการศึกษาพบว่า ตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ “เพื่อ” และ “ให้” มีคุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์ที่แตกต่างกันในประเด็นดังต่อไปนี้ (1) การละนามวลีแสดงผู้รับประโยชน์ (2) การย้ายนามวลีแสดงผู้รับประโยชน์ไว้หน้าประโยค (3) การปรากฏร่วมกับคำบุพบทอื่น และ (4) การปรากฏร่วมกับตัวบ่งชี้ปฏิเสธ ตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ทั้งสองมีคุณสมบัติทางอรรถศาสตร์ที่แตกต่างกันในประเด็นดังต่อไปนี้ (1) การปรากฏร่วมกับผู้รับประโยชน์ที่จำแนกตามคุณสมบัติทางความหมายของหน่วยร่วมดังกล่าว (2) การปรากฏร่วมกับผู้รับประโยชน์ประเภทต่าง ๆ และ (3) ประเภทของคำกริยาที่ปรากฏกับแต่ละตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ ผู้วิจัยพบว่า ความหมายดั้งเดิมของตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์แต่ละตัวมีผลต่อคุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ “เพื่อ” มีความหมายดั้งเดิม คือ การบ่งชี้สาเหตุของการกระทำ ส่วนตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ “ให้” มีความหมายดั้งเดิม คือ การแสดงการเปลี่ยนโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อความหมายดั้งเดิมแตกต่างกัน รูปแบบการขยายความหมายรวมทั้งการขยายหน้าที่ทางไวยากรณ์จึงแตกต่างกันส่งผลให้คุณสมบัติทางอรรถศาสตร์และวากยสัมพันธ์ของตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ทั้งสองแตกต่างกันตามลำดับ